/    บทความ    /    กรดไหลย้อน ปล่อยเรื้อรังอาจกลายเป็น “มะเร็ง”

กรดไหลย้อน ปล่อยเรื้อรังอาจกลายเป็น "มะเร็ง"

กรดไหลย้อน ปล่อยเรื้อรังอาจกลายเป็น "มะเร็ง"

ภาวะที่น้ำย่อยไหลจากกระเพาะย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร หรือที่เราเรียกว่า “กรดไหลย้อน”หลายคนอาจนึกถึงอาการแสบร้อนกลางอก เรอเหม็นเปรี้ยว หรืออาการปวดท้องอย่างรุนแรง แต่รู้หรือไม่ว่าหากปล่อยเรื้อรังเป็นเวลานานจนหลอดอาหารและกล่องเสียงเกิดการอักเสบ ก็อาจทำให้เซลล์เยื่อบุผิวกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน

  1. สาเหตุหลักส่วนใหญ่มาจาก “พฤติกรรมการบริโภค” เช่น  รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รับประทานอาหารเผ็ด เปรี้ยว ของมัน ของทอด ขนมเค้ก ช็อกโกแลต มากเกินพอดี รับประทานอาหารมื้อเย็นแล้วนอนทันที ซึ่งควรรออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง
  2. ภาวะความเครียด ผู้ที่มีความเครียดมักมีภาวะหลอดอาหารที่มีความไวเกินต่อสิ่งกระตุ้น หลอดอาหารอ่อนไหวต่อกรด เมื่อมีกรดไหลย้อนขึ้นมาแม้เพียงเล็กน้อย จะมีอาการแสดงทันที
  3. ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายหลอดอาหาร ลดลงต่ำกว่าปกติ หรือเกิดการเลื่อนของกระเพาะอาหารเข้าไปในหลอดอาหาร
  4. ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร รวมถึงกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานกว่าปกติ
  5. ปัจจัยอื่นๆ เช่น โรคอ้วน การตั้งครรภ์ การรับประทานยาบางชนิด รวมถึงเชื้อแบคทีเรีย หรือเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

กรดไหลย้อน กับมะเร็งกระเพาะอาหาร

บางคนเข้าใจผิดคิดว่าที่ตัวเองปวดท้องบ่อยๆ นั้นเกิดจากกรดไหลย้อน จึงละเลยไม่ไปพบแพทย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นอาการของกรดไหลย้อนมีความคล้ายกับอาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็อาจจะสายเกินไป ดังนั้น หากมีอาการกลืนลำบาก จุกแน่นใต้ลิ้นปี่จนนอนไม่หลับ อาเจียน ถ่ายเป็นเลือดหรือถ่ายดำ ซีด น้ำหนักลด หรือมีก้อนในท้อง อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้

สังเกตมะเร็งกระเพาะอาหาร

ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการเฉพาะและยังมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือกระเพาะอาหารอักเสบ

  • อาหารไม่ย่อย ไม่สบายท้อง
  • ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
  • รู้สึกคลื่นไส้เล็กน้อย
  • เบื่ออาหาร
  • แสบร้อนบริเวณหน้าอก
  • ในกรณีที่มีอาการลุกลาม มักมีอาการเพิ่มเติม ดังนี้
  • รู้สึกไม่สบายท้อง โดยเฉพาะบริเวณส่วนบนและตรงกลาง
  • มีเลือดปนในอุจจาระ
  • อาเจียน หรืออาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ำ
  • อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

ทั้งนี้ สำหรับคนไข้ที่เป็นมะเร็งควรได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ฉายแสง และ/หรือเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับระยะของโรค เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคกรดไหลย้อนอันจะนำไปสู่โรคมะเร็ง เราจึงควรปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ปรับพฤติกรรมการบริโภค รับประทานอาหารให้ตรงเวลา งดหรือลดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ลดอาหารรสชาติเผ็ด เปรี้ยว ของมัน ของทอด หลังรับประทานอาหารควรรออย่างน้อย 3-4 ชั่วโมงก่อนจะนอน เลี่ยงภาวะความเครียด งดสูบบุหรี่ และควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ปกติ

หากสังเกตว่าตัวเองมีอาการเข้าข่ายกรดไหลย้อนหรือมีภาวะเสี่ยงอันจะนำไปสู่มะเร็งกระเพาะอาหาร ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อป้องกันและดูแลรักษา ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม และการลดน้ำหนัก ซึ่งสามารถนัดหมายเพื่อเข้ารับคำแนะนำ จากทีมแพทย์พรีโมแคร์ เพื่อวางแผนและปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตสำหรับแต่ละบุคคล สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก

Reference: