/    บทความ    /    ตรวจ Rapid Antigen Test, RT-PCR, Antibody Test ต่างกันอย่างไร?

ตรวจ Rapid Antigen Test, RT-PCR, Antibody Test ต่างกันอย่างไร?

ตรวจ Rapid Antigen Test, RT-PCR,
Antibody Test ต่างกันอย่างไร?

เทียบหลักการทำงาน ข้อดีข้อเสีย ชุดตรวจ "Rapid antigen test" VS "PT-PCR" ตรวจโควิด 2 วิธีนี้ต่างจาก Antibody test ยังไง?

การตรวจ PCR และ Rapid Antigen Test เป็นวิธีตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งคู่ แต่ Antibody Test คือการตรวจเพื่อดูว่าเคยติดเชื้อหรือมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 หรือไม่ 

กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ประชาชนสามารถใช้ Rapid antigen test เพื่อตรวจโควิด-19 ด้วยตนเองได้แล้ว โดยเป็นวิธีการตรวจที่สามารถบ่งบอกการติดเชื้อได้เช่นเดียวกับการตรวจ PCR แต่ 2 วิธีนี้ก็มีหลักการตรวจ และข้อดีข้อเสียต่างกัน รวมไปถึงการตรวจ Antibody test ที่หลายคนอาจสับสนจากชื่อที่คล้ายกัน 

คุณหมอพรีโมแคร์พามารู้จักการตรวจทั้ง 3 วิธีแบบละเอียด พร้อมเปรียบเทียบหลักการทำงาน ความแม่นยำ ระยะเวลารอผลตรวจ ข้อดีและข้อเสีย เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกการตรวจที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อแบบ PCR (RT-PCR)

เป็นการตรวจโดยเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในจมูกหรือลำคอเพื่อส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในห้องปฏิบัติการ 

จุดประสงค์: วินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 บางการตรวจสามารถดูการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไวรัสอื่นๆ ในระบบทางเดินหายใจได้ด้วย

ตรวจตอนไหน: ทันทีที่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

วิธีเก็บตัวอย่าง: แยงจมูกหรือลำคอ บางการตรวจใช้การบ้วนน้ำลาย

ระยะเวลารอผล: ต่ำกว่า 1 ชั่วโมงหากเป็นการตรวจที่บ้าน แต่หากต้องส่งตรวจในห้องปฏิบัติการจะใช้เวลา 1-3 วัน

การตรวจซ้ำ: เนื่องจากมีความแม่นยำสูงจึงมักไม่ต้องตรวจซ้ำ ยกเว้นในบางกรณีที่แพทย์เห็นว่าควรตรวจซ้ำเพื่อความแน่ใจ

ข้อจำกัดการตรวจ:

  • การตรวจนี้ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าเคยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาก่อนในอดีตหรือไม่
  • หากผลตรวจพบเชื้อ ไม่ควรตรวจด้วยวิธีนี้ซ้ำในช่วง 90 วัน เพราะอาจยังมีไวรัสหลงเหลืออยู่หลังจากผ่านช่วงของการแพร่กระจายเชื้อไปแล้ว

การตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อด้วย Rapid Antigen Test 

เป็นชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยตนเองเบื้องต้น ถือเป็นการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการ มีวิธีการใช้ คือ ใช้ก้านสำลีเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในจมูกแล้วจุ่มก้านสำลีในน้ำยาสกัดไวรัส ก่อนจะนำมาหยดลงบนช่องของอุปกรณ์ทดสอบเพื่อดูผล 

จุดประสงค์: วินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น

ตรวจตอนไหน: ทันทีที่มีอาการ หรือมีความเสี่ยงจากการสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ

วิธีเก็บตัวอย่าง: แยงจมูกหรือลำคอ

ระยะเวลารอผล: 15-30 นาที

การตรวจซ้ำ: ผลลัพธ์ที่เป็นบวก (ตรวจพบเชื้อ) ค่อนข้างมีความแม่นยำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการหรือมีความเสี่ยงติดเชื้อสูง แต่มีความแม่นยำน้อยสำหรับการตรวจในผู้ที่ไม่มีอาการ หรือการตรวจในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่คน ที่อาจต้องตรวจ PCR เพื่อยืนยันไม่ว่าผลบวกหรือลบก็ตาม

ข้อจำกัดการตรวจ: 

  • อาจตรวจไม่พบในระยะแรกเริ่มของการติดเชื้อ หากมีอาการหรือมีความเสี่ยงสูงแต่ตรวจไม่พบเชื้อ ควรตรวจยืนยันอีกครั้งด้วยวิธี PCR 
  • การตรวจนี้ไม่สามารถบ่งบอกว่าเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนในอดีตหรือไม่ เช่นเดียวกับการตรวจ PCR

Antibody Test: การตรวจหาแอนติบอดีในระบบภูมิคุ้มกัน

เป็นการเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีหรือสารก่อภูมิคุ้มกันที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์หลังจากการติดเชื้อ และอาจมีแอนติบอดีหลงเหลืออยู่ในเลือดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน 

การตรวจพบแอนติบอดีสามารถบ่งชี้ว่าเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนในอดีต และอาจบ่งบอกถึงการมีภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน แต่ในทางวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าการมีแอนติบอดีนั้นเท่ากับการมีภูมิคุ้มกันต่อโรค เนื่องจากยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการติดเชื้อจะเกิดขึ้นมากแค่ไหนและคงอยู่นานเท่าไร

จุดประสงค์: ตรวจการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในอดีต

ตรวจตอนไหน: หลังติดเชื้อหรือหลังฉีดวัคซีน 4-6 สัปดาห์

วิธีเก็บตัวอย่าง: เจาะเลือดจากปลายนิ้วแล้วหยดลงในชุดทดสอบ หรือนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาแอนติบอดีในห้องปฏิบัติการ แต่ปัจจุบันแนะนำให้ตรวจแอนติบอดีกับทางสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่แนะนำให้ซื้อชุดตรวจมาตรวจเอง

ระยะเวลารอผล: ภายในวันเดียวกัน หรือ 1-3 วัน หากต้องส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ

การตรวจซ้ำ: อาจต้องตรวจ Antibody Test ซ้ำเพื่อความแม่นยำ

ข้อจำกัดการตรวจ: 

  • ไม่สามารถวินิจฉัยการติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบัน เนื่องจากการตรวจพบหรือไม่พบแอนติบอดีไม่ได้แปลว่าร่างกายมีหรือไม่มีเชื้อโควิด-19 
  • ความแม่นยำของผลการตรวจขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ตรวจ หากตรวจในช่วงที่ยังมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันไม่เต็มที่ก็อาจไม่พบแอนติบอดี จึงมักไม่แนะนำให้ตรวจจนกว่าจะครบ 14 วันหลังเริ่มมีอาการ

ตารางเปรียบเทียบการตรวจ Rapid Antigen Test, RT-PCR, และ Antibody Test ความแตกต่างของการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการตรวจภูมิด้วย Antibody Test

เมื่อไหร่ถึงควรตรวจหาเชื้อโควิด-19?

หากคิดว่าตนเองอาจมีความเสี่ยงหรือมีข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจโควิด-19 

  • มีอาการเข้าข่ายโควิด-19 แม้จะได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม
  • สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ในระยะ 2 เมตร เป็นเวลาตั้งแต่ 15 นาทีขึ้นไป
  • ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง เช่น เดินทาง พบปะสังสรรค์กับคนหมู่มาก อยู่ในพื้นที่ปิดที่มีคนแออัด เป็นต้น

ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอผลตรวจหรือตั้งแต่ที่เริ่มสงสัยว่าอาจติดเชื้อ จนกว่าจะได้รับผลตรวจ ควรกักตัวอยู่เฉพาะในบ้าน แยกตัวออกจากคนอื่นๆ ในบ้าน หมั่นล้างมือและทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกัน รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไปสู่คนรอบข้าง

มีคำถามเพิ่มเติม ให้ทีมแพทย์พรีโมแคร์ช่วยหาคำตอบได้ที่ LINE@primoCare

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีจำหน่ายชุดตรวจโควิด ATK ให้คุณตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยตนเองที่บ้าน สั่งซื้อออนไลน์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ราคาเเริ่มต้น 150.- คลิกเลย

Reference