/    บทความ    /    Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร?
ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อ ไม่ติดต่อ แต่ทำไมยังไม่หายดี? เช็คลิสต์อาการ Long Covid และวิธีรับมือด้วยตนเองในเบื้องต้น

ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแตกต่างกันไป ตั้งแต่หลักวันถึงหลักสัปดาห์ แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่พบอาการในลักษณะ ‘Long Covid’ ซึ่งทางการแพทย์ใช้นิยามอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนหลังจากพบการติดเชื้อ และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะคงอยู่นานแค่ไหน และอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดขึ้น

อาการของ Long Covid

จากรายงานพบว่าแม้ผู้ป่วยจะมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการใดๆ ในระหว่างที่ติดเชื้อ ก็ยังมีโอกาสเกิดอาการแบบ Long Covid ได้อยู่ดี โดยอาจเกิดขึ้นในทันทีหรือหลายสัปดาห์หลังจากติดเชื้อก็ได้ทั้งนั้น

อาการ Long Covid ของผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกันไปและกินเวลายาวนานไม่เท่ากัน โดยที่พบได้บ่อย คือ 

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • หายใจลำบาก หายใจถี่
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ
  • ไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ คิดอะไรไม่ค่อยออก
  • มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ
  • ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ปวดตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • ปวดหู หูอื้อ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร
  • มีไข้ ไอ เจ็บคอ การรับรู้รสและและกลิ่นบกพร่อง
  • ผื่นขึ้น มีอาการเหน็บชา

นอกจากนี้ มีรายงานชี้ว่าบางรายอาจมีอาการแย่ลงหลังจากทำกิจกรรมที่ใช้กำลังหรือใช้ความคิดได้

Long Covid พบได้บ่อยแค่ไหน?

ปัจจุบันมีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการ Long Covid มากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากสถิติผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2021 มีจำนวนประมาณ 1.1 ล้านคน ที่มีอาการนานกว่า 4 สัปดาห์ตั้งแต่พบการติดเชื้อ ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 2 ใน 3 มีอาการยาวนานกว่า 12 สัปดาห์

งานวิจัยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่ติดตามผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คนที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าผู้ป่วย 7 ใน 10 ยังมีอาการไม่ฟื้นตัวเต็มที่แม้จะออกจากโรงพยาบาลไปแล้วนานกว่า 5 เดือนด็ตาม

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ชี้แจงว่า อาการที่เกิดขึ้นระยะยาวนี้สามารถเกิดขึ้นในการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นได้เช่นกัน ไม่ได้เป็นอาการเฉพาะตัวของโควิด-19 และผู้ที่อาการเริ่มแรกรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มักจะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า 5 เดือนอยู่แล้ว แต่ก็มีอีกรายงานหนึ่งที่ชี้ว่าอาการ Long Covid อาจคงอยู่ได้นานกว่า 12 เดือน โดยพบได้ทั้งในกลุ่มที่อาการรุนแรงและไม่รุนแรงในระยะเริ่มแรก

ใครบ้างที่เสี่ยงมีอาการ Long Covid?

ข้อมูลจากงานวิจัยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2020 ที่เก็บข้อมูลจากแอปพลิเคชันศึกษาอาการโควิด-19 (COVID Symptom Study) และอีกงานวิจัยจากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ที่ชี้ว่าอาการแบบ Long Covid อาจมีความเสี่ยงในบุคคลต่อไปนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ 

  • ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-49 ปี พบเพียงประมาณ 10% ในขณะที่ 22% เป็นผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นตามตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้น 
  • ผู้หญิง พบได้มากกว่าผู้ชาย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหอบหืด โรคอ้วน  
  • ผู้ที่มีอาการรุนแรง โดยมีเกณฑ์วัดจากการมีอาการตั้งแต่ 5 อย่างขึ้นไปในสัปดาห์แรก 
  • กลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนที่เปราะบาง

รับมือกับ Long Covid อย่างไร?

Long Covid เป็นอาการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะรักษาตัวจนหายติดเชื้อและสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้วก็ตาม โดยอาการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะไม่ติดต่อไปสู่คนรอบข้าง เพราะไม่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแล้ว

สำหรับคนที่มีอาการใดๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ อารมณ์ไม่แจ่มใส สามารถบรรเทาอาการตามแนวทางต่อไปนี้

  • ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเพิ่งหักโหมทำสิ่งที่เกินกำลังตัวเอง
  • เลือกทำสิ่งต่างๆ ในช่วงเวลาที่รู้สึกมีพลังงานมากที่สุด และหมั่นหยุดพักเพื่อฟื้นพลังบ่อยๆ 
  • หากรู้สึกเหนื่อยง่าย ควรหากิจกรรมทำเป็นประจำและเพิ่มระดับการออกกำลังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อและคืนความแข็งแรงให้ร่างกาย
  • พยายามทำกิจวัตรประจำวันตามปกติเพื่อลดความเครียดหรือวิตกกังวลจากลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป และไม่ควรกดดันตัวเองว่าจะต้องฟื้นตัวหรือกลับไปทำกิจกรรมหนักๆ ตามปกติในเร็ววัน 
  • รักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพื่อเพิ่มกำลังใจที่ดี หากไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ ควรโทรหรือวิดีโอคอลคุยกันอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สมาธิ ควรหมั่นจดบันทึกเตือนสิ่งที่ต้องทำและพยายามกำจัดสิ่งรบกวนสมาธิทั้งหลายในระหว่างการทำงาน
  • บรรเทาอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อด้วยท่าบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อ หรือจะเล่นโยคะ ฝึกไทชิ (ไทเก๊ก) ก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าตัวเองมีอาการของ Long Covid หรือมีความกังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำก็คือการปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะกับอาการของตัวเองมากที่สุด 

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เป็นกำลังใจให้คุณผ่านทุกเรื่องราวไปได้ด้วยดี หากต้องการคำแนะนำการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ไม่ว่าสุขภาพกายหรือสุขภาพใจ สามารถนัดปรึกษาทีมแพทย์ของเราได้เลยที่ LINE @primoCare