/    บทความ    /    Q&A ถามตอบเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

Q&A ถามตอบเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

Q&A ถามตอบเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ใครควรฉีด คนท้องฉีดได้ไหม มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง ฉีดตอนไหนดีที่สุด ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้นานแค่ไหน

ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีอาการคล้ายโรคหวัดทั่วไป แต่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้มากกว่า โดยจากการคาดการณ์ของหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา ในแต่ละปีโรคไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึงประมาณ 2.9-6.5 แสนคนทั่วโลก ด้วยเหตุนี้แพทย์จึงแนะนำให้ทุกคนรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากการติดเชื้อและช่วยลดความรุนแรงของโรค

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันได้แค่ไหน ควรฉีดเมื่อไหร่ ฉีดได้ทุกคนหรือไม่? พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ชวนคุณมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน เตรียมพร้อมเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อสู้เชื้อไข้หวัดใหญ่ประจำปีนี้

Q: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร?

A: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำจากเชื้อไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อได้แล้ว โดยจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เมื่อมีการสัมผัสเชื้อในอนาคต

Q: ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี?

A: ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะค่อยๆ ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ประกอบกับสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จึงต้องมีการอัปเดตวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อปรับเปลี่ยนส่วนประกอบให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันสายพันธุ์ของปีนั้นๆ มากขึ้น แน่นอนว่ามีโอกาสที่คุณจะสัมผัสและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ส่วนประกอบหลักของวัคซีนได้ แต่การฉีดวัคซีนก็ยังจำเป็นและมีประโยชน์ในการช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อได้อยู่ดี

Q: ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?

A: ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ควรรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ดังต่อไปนี้

  • หญิงตั้งครรภ์
  • เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เบาหวาน และผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในระหว่างการรับเคมีบำบัด 
  • ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กก. ขึ้นไป
  • บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานใกล้ชิดผู้ป่วย

กลุ่มเสี่ยงข้างต้นสามารถสอบถามกับทางอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อจองคิวนัดหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี โดยจะเปิดจองในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนของทุกปีทางช่องทางต่างๆ ได้แก่ หน่วยบริการสุขภาพประจำชุมชน สายด่วน 1330 (กด 1 และกด 8) กระเป๋าสุขภาพในแอปพลิเคชันกระเป๋าตัง หรือทางแอปพลิเคชัน LINE @UCBKK กรณีอาศัยอยู่ในกทม. หรือมีสิทธิบัตรทอง

Q: ใครที่ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?

A: บุคคลต่อไปนี้ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

  • เด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งหากคุณแม่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ขณะตั้งครรภ์ เด็กก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงนี้
  • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่อย่างรุนแรง

บุคคลต่อไปนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดวัคซีนทุกครั้ง

  • มีอาการแพ้ไข่ไก่อย่างรุนแรง เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่บางชนิดอาจทำมาจากไข่ไก่ 
  • มีประวัติเป็นโรค GBS (Guillain-Barré Syndrome)
  • มีไข้ รู้สึกไม่สบาย เจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือมีโรคประจำตัวที่อาการกำเริบหรือยังควบคุมไม่ได้ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้เลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
Q: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันได้แค่ไหน?

A: เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อที่ติดต่อและแพร่กระจายได้ง่าย การฉีดวัคซีนไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ยังป้องกันอาการรุนแรงที่อาจทำให้ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และลดอัตราการเสียชีวิต ทั้งยังช่วยปกป้องคนรอบข้างจากการได้รับเชื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนและผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายหากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

Q: ฉีดแล้วป้องกันได้ทันทีหรือไม่?

A: หลังจากฉีดวัคซีนแล้วยังต้องรอเวลาให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้โรคอย่างเต็มที่ ประมาณ 2 สัปดาห์ 

Q: ควรฉีดเมื่อไหร่?

A: สามารถฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตลอดปี แต่ถ้าจะให้ดีควรฉีดก่อนช่วงที่เริ่มมีการระบาด คือ ช่วงก่อนฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม และก่อนฤดูหนาวในเดือนตุลาคม

Q: ฉีดวัคซีน 2 ครั้งในปีเดียวกัน ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้หรือไม่?

A: การฉีดวัคซีนก่อนฤดูแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ปีละ 1 ครั้งนั้นเพียงพอแล้ว และจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่พบว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากกว่าปีละ 1 ครั้งในช่วงการแพร่ระบาดเดียวกันจะช่วยป้องกันได้มากกว่าเดิม เว้นแต่เป็นการฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นปีแรกเท่านั้น ซึ่งจะแนะนำให้ฉีด 2 เข็ม โดยเว้นระยะเข็มที่ 2 จากเข็มแรก 4 สัปดาห์

Q: ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมีอะไรบ้าง?

A: วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและหายไปได้เองใน 1-2 วัน โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ มีไข้ต่ำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดบริเวณรอบๆ ที่ฉีดวัคซีน เนื่องจากเป็นการฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน 

เพื่อลดอาการปวดแนะนำให้หมั่นขยับและเคลื่อนไหวแขนตามปกติ หากมีอาการปวดมากสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยาทุกครั้ง

Q: สังเกตอาการแพ้วัคซีนอย่างไร?

A: อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) จากการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่นั้นพบได้น้อยมาก ส่วนมากหลังฉีดวัคซีนแพทย์หรือพยาบาลจะแนะนำให้นั่งรอสังเกตอาการข้างเคียงหรืออาการแพ้เป็นเวลาอย่างน้อย 30 นาที หากมีสัญญาณของการแพ้ ได้แก่ อาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลำคอ มีผื่นลมพิษขึ้นตามตัว หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ วิงเวียนศีรษะ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

Q: การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำให้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้หรือไม่?

A: วัคซีนไข้หวัดใหญ่ทำจากไวรัสที่ตายแล้ว ซึ่งไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ จึงไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้เกิดการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แต่อย่างใด โดยอาการไข้อ่อนๆ หรืออาการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนเป็นสัญญาณทั่วไปที่บ่งบอกว่าร่างกายของคุณกำลังสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้โรคนั่นเอง

Q: ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้หรือไม่?

A: โรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรควิด-19 ได้ และมีความเป็นไปได้ที่คุณจะติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และเชื้อโควิด-19 พร้อมกัน ซึ่งมีแนวโน้มทำให้อาการรุนแรงยิ่งขึ้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ป้องกันไว้จึงเป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 นอกจากนี้ยังถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของระบบสุขภาพ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์และจำนวนเตียงในโรงพยาบาล ที่ในขณะนี้ต้องแบ่งมาดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นจำนวนมากอีกด้วย 

Q: ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่พร้อมวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม?

A: ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดพร้อมกัน เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่าควรเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้เป็นเวลาอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ โดยหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้ว ควรรออย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือหากฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน ก็ควรรออย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 

โรคโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันไปพร้อมกัน ยิ่งฝนตก อากาศชื้นแบบนี้ ยิ่งวางใจไม่ได้

อุ่นใจไว้ก่อน ปกป้องตัวคุณเองและคนที่คุณรักจากไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่วันนี้ สอบถามและนัดหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ประจำปีกับทีมแพทย์ของเราได้เลยที่นี่ 

Reference