/    บทความ    /    Burnout Syndrome ต่างจากซึมเศร้ายังไง? วิธีแก้ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome ต่างจากซึมเศร้ายังไง? วิธีแก้ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome ต่างจากซึมเศร้ายังไง?
วิธีแก้ภาวะหมดไฟในการทำงาน

Burnout Syndrome หรือซึมเศร้ากันแน่? สังเกตความต่าง รู้วิธีป้องกันภาวะหมดไฟ ก่อนส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและสุขภาพจิต

ความเหนื่อยล้าและความเครียดจากการทำงาน การเรียน หรือแม้แต่ภาระความรับผิดชอบในชีวิต เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้และแต่ละคนก็มีวิธีรับมือในแบบของตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรงจนรู้สึกว่าเกินความสามารถที่จะจัดการได้ และส่งผลต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ รวมถึงประสิทธิภาพในการทำงาน นั่นอาจเข้าข่าย Burnout Syndrome (ภาวะหมดไฟ) หรือภาวะซึมเศร้าได้

Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟ คือความรู้สึกเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้าเรื้อรังที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการทำงานหรือสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งในปี 2019 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้ Burnout Syndrome เป็นภาวะจากการทำงาน โดยนิยามว่าเป็นผลของความเครียดจากการทำงานที่ยาวนานและไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม แม้ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่ด้วยความรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่าย ไร้เรี่ยวแรงและกำลังในการทำงาน จึงทำให้หลายคนอาจสับสนระหว่าง Burnout Syndrome กับภาวะซึมเศร้าได้ง่าย 

Burnout Syndrome กับซึมเศร้า ต่างกันอย่างไร?

Burnout Syndrome คืออาการที่สามารถส่งผลต่อทั้งทางอารมณ์ ร่างกาย และสภาพจิตใจ โดยมีสาเหตุมาจากความเครียดที่มีมากเกินไปหรือเครียดสะสมเรื้อรัง สัญญาณของภาวะหมดไฟแบ่งได้เป็น 3 ข้อหลักๆ ต่อไปนี้

  • รู้สึกไร้เรี่ยวแรงหรือหมดพลังงาน เกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางกายและใจ บางทีอาจมีอาการทางร่างกายจากความเครียดร่วมด้วย เช่น ปวดตามร่างกาย ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • หมดกำลังใจในการทำงาน เกิดความรู้สึกในแง่ลบต่องานที่ทำ มีพฤติกรรมห่างเหินหรือไม่อยากมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
  • ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง ไม่มีสมาธิจดจ่อกับงาน สำหรับคนที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิดอาจส่งผลให้คิดอะไรไม่ออก หรือขาดความคิดสร้างสรรค์ได้

ภาวะซึมเศร้า เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ที่ส่งผลให้มีอาการของความรู้สึกหดหู่ ขาดความสนใจในเรื่องต่างๆ ในชีวิต หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อ่อนเพลีย ไร้พลังงาน รู้สึกสิ้นหวัง หรือคิดว่าตัวเองไร้ค่า ซึ่งจะส่งผลต่อชีวิตประจำวันในด้านที่ไม่ใช่เฉพาะการทำงานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานอดิเรก ความชอบ การเข้าสังคม และความสัมพันธ์ต่อเพื่อนหรือครอบครัว 

แม้อาการดังข้างต้นจะเกิดขึ้นได้เป็นบางครั้งบางคราวในบางช่วงของชีวิตเป็นปกติ แต่อาการที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 สัปดาห์นั้นอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า ซึ่งไม่ควรปล่อยให้ล่วงเลยจนเรื้อรัง ควรเข้ารับการตรวจรักษากับแพทย์ทันที

จะเห็นได้ว่าอาการภาวะ Burnout Syndrome มีส่วนคล้ายคลึงอาการของภาวะซึมเศร้า แต่ก็มีข้อสังเกตง่ายๆ คือภาวะ Burnout Syndrome อาจดีขึ้นหรือหายไปในช่วงสุดสัปดาห์หรือช่วงที่หยุดพักผ่อนจากงานและความรับผิดชอบต่างๆ ฉะนั้นถ้าสงสัยว่าตัวเองอาจมีอาการของภาวะนี้ก็ลองพักผ่อนและสำรวจตัวเองว่ารู้สึกดีขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมีอาการในระดับที่รุนแรง ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่รักษาก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

วิธีแก้และวิธีป้องกัน Burnout Syndrome

หากคุณมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ หรือมีอาการเข้าข่ายตามที่กล่าวมา เบื้องต้นให้ลองผ่อนคลาย ลดความเครียดและความล้าจากการทำงาน ตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • อย่าโหมงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน ให้เวลาร่างกายและจิตได้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า ป้องกันความเครียดที่อาจสะสมเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจะสังเกตได้จากการคิดถึงเรื่องงานตลอดเวลา นอนไม่หลับ อารมณ์เสีย หงุดหงิดง่าย และประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดลง
  • ฝึกพูดคำว่า “ไม่” รู้จักปฏิเสธงานที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบหรืองานที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานช่วงนอกเวลาจนเบียดบังเวลาส่วนตัว
  • ขีดเส้นแบ่งเวลาทำงานและเวลาพักผ่อน หยุดคุยเรื่องงานหลังเวลาเลิกงานหรือช่วงสุดสัปดาห์ การติดต่องานหรือเช็กงานตลอดเวลาแม้กระทั่งในช่วงเวลาของการพักผ่อนเมื่อนานไปจะให้เกิดความเหนื่อยล้าและเครียดจนเกิดเป็นภาวะ Burnout ได้ง่ายๆ
  • หยุดพักร้อนเพื่อชาร์จพลังให้ตัวเองบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สังเกตว่าเริ่มมีอาการหมดไฟในระดับปานกลางถึงรุนแรง การมีช่วงเวลาให้พักผ่อนหย่อนใจจะช่วยเพิ่มพลังกายและใจให้กลับมาลุยงานได้อย่างกระฉับกระเฉงมากขึ้น
  • แบ่งเวลานอนอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง การพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟขึ้นได้ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่มีสมาธิทำงาน หรืออาจส่งผลให้อาการทั้งหมดนี้แย่ลงกว่าเดิมได้ 
  • ใช้เวลากับคนรอบข้างให้มากขึ้น อาจนัดกินข้าวมื้อเย็นกับเพื่อน หากิจกรรมทำร่วมกับคนในครอบครัว และหากกลุ่มเพื่อนที่ใช้เวลาด้วยกันส่วนใหญ่เป็นคนในที่ทำงาน ก็ควรตกลงกันว่าจะไม่พูดเรื่องงานในช่วงพักหรือหลังเลิกงานแล้ว

Burnout Syndrome อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมา ในขณะเดียวกันภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หมดไฟในการทำงานได้เช่นกัน อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เรื้อรังจนบ่อนทำลายสุขภาพ พยายามตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่ารู้สึกอย่างไร ไม่ว่าจะรักงานแค่ไหนก็ต้องไม่ลืมให้ความสำคัญกับสุขภาพของตัวเองด้วย 

เมื่อไหร่ที่รู้สึกไร้หนทาง ติดอยู่ในวังวนของความเครียดและความเหนื่อยล้า นักจิตวิทยาพรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมรับให้คำปรึกษาทุกเมื่อ ให้เรารับฟังและร่วมหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะงานและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณที่สุด สอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการนัดหมายบริการ ติดต่อ @primoCare