/    บทความ    /    6 โรคที่มากับหน้าฝนและน้ำท่วม รู้​ไว้​ก่อน ป้องกันได้

6 โรคที่มากับหน้าฝนและน้ำท่วม รู้​ไว้​ก่อน ป้องกันได้

6 โรคที่มากับหน้าฝนและน้ำท่วม
รู้ไว้ก่อน ป้องกันได้

โรคที่มากับหน้าฝน มีอะไรบ้าง รู้จัก 6 โรคที่ต้องระวังในหน้าฝนนี้ แต่ละโรคมีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง

หน้าร้อนที่แสนอบอ้าวผ่านไปแล้ว เข้าสู่ความอึมครึมของฤดูฝนที่อากาศเย็นลงกว่าเดิม เป็นฤดูกาลที่หลายคนชื่นชอบ แต่รู้หรือไม่ว่าสายฝนที่ชุ่มฉ่ำอาจมาพร้อมโรคได้เช่นกัน มารู้จัก 6 โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมคำแนะนำในการป้องกันตัวเองให้สุขภาพดีตลอดฤดูฝนนี้ ที่คุณหมอพรีโมแคร์นำมาฝากกัน

1 ไข้หวัด 

โรคที่มักมาเยือนในฤดูฝนและฤดูหนาว เกิดขึ้นได้จากไวรัสหลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดก็คือไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งจะแพร่กระจายผ่านทางละอองสารคัดหลั่งเมื่อสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย เช่น การพูดคุย ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสหวัดจากผู้ป่วยแล้วนำมือมาสัมผัสตามดวงตา จมูก หรือปาก 

อาการจากการติดเชื้อหวัดมักจะปรากฏให้เห็นภายใน 1-3 วันหลังได้รับเชื้อ ที่มักพบบ่อย ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ จาม ปวดเมื่อยตามร่างกายเล็กน้อย ปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ โดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้มักดีขึ้นเองภายใน 7-10 วัน

2 ไข้หวัดใหญ่ 

มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) เป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกับโรคหวัด แต่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังบางชนิด

อาการเริ่มแรกของไข้หวัดใหญ่อาจดูคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น มีน้ำมูก จาม เจ็บคอ แต่มักจะมีอาการแบบฉับพลันทันทีและมีความรุนแรงกว่าหวัดธรรมดา อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไอแห้งอย่างต่อเนื่อง หายใจหอบ อ่อนเพลีย ในเด็กมักอาเจียนและท้องเสียร่วมด้วย

3 ไข้เลือดออก 

เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue) ที่มีพาหะเป็นยุงลายซึ่งจะวางไข่ตามภาชนะหรือแอ่งที่มีน้ำขังทั้งในและนอกบ้าน ความรุนแรงของโรคมีตั้งแต่ไม่มีอาการไปจนถึงมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เชื้อไวรัสเดงกีนั้นมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ หากติดเชื้อชนิดใดก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อสายพันธุ์นั้นไปตลอดชีวิต

อาการของโรคไข้เลือดออกที่ไม่รุนแรงอาจทำให้สับสนกับอาการของโรคอื่นๆ ที่มักจะมีไข้ ปวดตามเนื้อตัว และมีผื่นขึ้น โดยบางคนอาจมีไข้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่บางคนอาจมีอาการอื่นร่วม เช่น คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้น ปวดตามกล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อ ปวดบริเวณกระบอกตา ปวดศีรษะ เป็นต้น

4 ท้องเสีย ท้องร่วง 

มักเกิดจากการบริโภคน้ำและอาหารที่ปรุงไม่สุก ปรุงกึ่งสุกกึ่งดิบ หรือมีวิธีการปรุงที่ไม่สะอาดไม่ถูกสุขอนามัย รวมถึงอาหารค้างคืน หมดอายุ หรือมีการเก็บรักษาไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อจำพวกปรสิต ที่เป็นสาเหตุของอาการท้องเสียหรือโรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ เป็นต้น

นอกจากอาการถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน ปวดท้องแบบบีบๆ หรือเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ทั้งนี้หากถ่ายอุจจาระเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวันอาจเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำตามมาได้ ระหว่างที่มีอาการจึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอและอาจดื่มเกลือแร่ ORS สำหรับบรรเทาอาการท้องเสีย ที่จะช่วยชดเชยน้ำและเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไป สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป

5 โรคฉี่หนู 

เป็นอีกโรคที่ระบาดมากในหน้าฝน เนื่องจากฝนที่ตกลงมาจะชะล้างเชื้อโรคต่างๆ ไหลมารวมกันบริเวณที่น้ำท่วมขัง โรคนี้มีตัวการเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น หนู สุกร โค กระบือ ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน โดยจะเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีบาดแผล รอยขีดข่วน หรือผิวหนังที่เปื่อยจากการแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน รวมทั้งทางเยื่อบุตา จมูก และปาก

ผู้ที่ได้รับเชื้อบางรายอาจไม่มีอาการใดๆ ส่วนคนที่มีอาการก็มักค่อยไม่รุนแรง เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ คลื่นไส้อาเจียน ตาแดง ตัวเหลืองตาเหลือง ซึ่งจะหายไปได้เองใน 4-7 วัน แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการระยะที่สองซึ่งเป็นระยะที่รุนแรง โดยตอนแรกจะดูเหมือนไข้เริ่มลดลง แต่ก็กลับมามีไข้สูงอีกครั้ง และอาจตามมาด้วยอาการอันตรายอย่างเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ตับและไตทำงานผิดปกติหรือล้มเหลวได้

6 โรคตาแดง 

หรือเยื่อบุตาอักเสบ เป็นการอักเสบของเยื่อบุตาที่เกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่เยื่อบุตา มักระบาดมากในช่วงหน้าฝนเนื่องจากเชื้อกระจายตัวในอากาศได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังติดได้จากการว่ายน้ำในสระ และการสัมผัสน้ำตาของผู้ป่วยแล้วนำมาสัมผัสตาตัวเอง

นอกจากอาการตาแดงที่ตาขาวหรือเปลือกตาด้านใน ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุการติดเชื้อ เช่น แสบตา คันตา ตาแฉะ น้ำตาไหล มีขี้ตาสีเหลืองที่เปลือกหรือขนตา ทำให้ลืมตายากในเวลาตื่นนอนตอนเช้า เป็นต้น

ป้องกันตัวเองและคนรอบข้างอย่างไร ห่างไกลโรคที่มากับหน้าฝน

โรคที่มากับหน้าฝนมักเป็นโรคที่มีน้ำเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อ และเป็นเชื้อที่กระจายตัวได้ดีในอากาศเย็นชื้น การป้องกันทำได้ด้วยการลดการแพร่กระจายและความเสี่ยงในการติดเชื้อของทั้งตัวคุณเองและคนรอบข้าง ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานหรือเตรียมอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และหลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก
  • หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวจับบันได
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน หูฟัง เครื่องสำอาง แว่นตา ยาหยอดตา
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่รับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ หลีกเลี่ยงอาหารที่ค้างคืนหรือมีการเก็บรักษาไม่เหมาะสม
  • ในขั้นตอนการปรุงหรือเก็บอาหารควรแยกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และไข่ไก่ ออกจากอาหารอื่นๆ และมีเขียงแยกสำหรับหั่นเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยคอยดูไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะทั้งในบ้านและบริเวณรอบบ้าน ควรมีฝาปิดภาชนะที่ใส่น้ำเพื่อป้องกันยุงลายวางไข่
  • สวมรองเท้าบู้ตทุกครั้งเมื่อต้องลุยน้ำขัง หรือรีบล้างมือล้างเท้าให้สะอาดหลังจากสัมผัสน้ำขังหรือสัตว์ที่เป็นพาหะ
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่ทีประโยชน์ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อสู้โรค 

นอกจากโรคโควิด-19 ที่ต้องระมัดระวังแล้ว ภัยสุขภาพที่มาพร้อมฝนเหล่านี้ก็ละเลยไม่ได้เช่นกัน หากใครมีอาการคล้ายๆ 6 โรคนี้หรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่กังวลใจ คุณสามารถปรึกษาทีมแพทย์ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก โดยนัดหมายผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE ได้ที่ @primoCare