/ บทความ / จัดสมดุลสุขภาพจิตในการทำงาน
สุขภาพจิตที่ดีเป็นสภาวะที่บุคคลสามารถควบคุมสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ และความคิดให้ปรับตัวเข้ากับสังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมดำเนินชีวิตตามบทบาทหน้าที่ของตนในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้สุขภาพจิตในที่ทำงานเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะงานเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความเครียดและความกังวลจากงานได้ การจัดการกับสุขภาพจิตในที่ทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่จะช่วยสร้างสมดุลให้กับชีวิต
สุขภาพจิต (Mental Health)
สุขภาพจิตเป็นสภาวะทางจิตใจของบุคคล ซึ่งโดยธรรมชาติภาวะทางจิตใจมีการปรับเปลี่ยนแปลงตามสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวของบุคคลนั้นๆ โดยภาวะจิตใจที่เป็นสุข สามารถปรับตัวแก้ปัญหา สร้างสรรค์ทำงานได้ มีความรู้ สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความมั่นคงทางจิตใจ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ อยู่ในสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้
ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมักมีลักษณะของคนที่เข้าใจชีวิตมีจุดมุ่งหมายในชีวิต ไม่มีความรู้สึกสิ้นหวัง คิดบวก มองโลกในแง่ดี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้อื่นมากกว่าผู้ที่มีสุขภาพจิตไม่ดี การมีสุขภาพจิตดีและการมองโลกในแง่ดีนั้นสัมพันธ์กับสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้นด้วย ทำให้มีปัญหาสุขภาพลดน้อยลง โดยผู้ที่มีสุขภาพจิตดีมักมีลักษณะดังนี้
- ไม่ค่อยรู้สึกสิ้นหวัง
- เข้าสู่โหมดอารมณ์แง่ลบได้ยาก และปรับอารมณ์ให้กลับมาเป็นปกติได้เร็ว
- มีแนวโน้มจะนึกถึงช่วงเวลาที่ดีมากกว่าช่วงเวลาที่เลวร้าย
- เข้าใจถึงความหมายของชีวิต และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีจุดมุ่งหมาย
- ให้ความสนใจกับสิ่งที่สำคัญและคำนึงถึงการคงไว้ซึ่งอารมณ์และสุขภาพจิตที่ดี
ความเครียดจากการทำงาน
ความเครียดจากที่ทำงานส่งผลเสียต่อสุขภาพทางร่างกาย และจิตใจ สำหรับผู้ที่ไม่มีความสุขในการทำงาน มีข้อสังเกตได้จากการมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้
- เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากทำงาน ขาดความกระตือรือร้น ทำงานผิดพลาดบ่อย หรือขาดงานเป็นประจำ
- ไม่อยากพูดกับใคร อารมณ์ร้อน รู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องเครียด ไม่สนุกสนานเหมือนเดิม
- ระบายออกโดยการใช้สารเสพติด เช่นการสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกฮอล์
- เกิดอาการเจ็บป่วย โดยไม่มีสาเหตุ เช่นปวดหัวเป็นประจำ ปวดหลัง ปวดไหล่ อ่อนเพลีย มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับหรืออยากนอนตลอดเวลา
แบบประเมินสุขภาพจิต
แบบทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ โดยกรมสุขภาพจิต คำถามต่อไปนี้จะถามถึงประสบการณ์ของท่านในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ให้ท่านสำรวจตัวท่านเองและประเมินเหตุการณ์ อาการหรือความคิดเห็นและความรู้สึกของท่านว่าอยู่ในระดับใด แล้วตอบคำตอบที่เป็นจริงกับตัวท่านมากที่สุด โดยคำตอบจะมี 4 ตัวเลือก คือ ไม่เลย (1 คะแนน), เล็กน้อย (2 คะแนน), มาก (3 คะแนน) และ มากที่สุด (4 คะแนน)
- ท่านรู้สึกพึงพอใจในชีวิต
- ท่านรู้สึกสบายใจ
- ท่านรู้สึกเบื่อหน่ายท้อแท้กับการดำเนินชีวิตประจำวัน
- ท่านรู้สึกผิดหวังในตัวเอง
- ท่านรู้สึกว่าชีวิตของท่านมีแต่ความทุกข์
- ท่านสามารถทำใจยอมรับได้สำหรับปัญหาที่ยากจะแก้ไข (เมื่อมีปัญหา)
- ท่านมั่นใจว่าสามารถควบคุมอารมณ์ได้เมื่อมีเหตุการณ์คับขันหรือร้ายแรงเกิดขึ้น
- ท่านมั่นใจที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในชีวิต
- ท่านรู้สึกเห็นใจเมื่อผู้อื่นมีทุกข์
- ท่านรู้สึกเป็นสุขในการช่วยเหลือผู้อื่นที่มีปัญหา
- ท่านให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
- ท่านรู้สึกภูมิใจในตนเอง
- ท่านรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยเมื่ออยู่ในครอบครัว
- หากท่านป่วยหนัก ท่านเชื่อว่าครอบครัวจะดูแลท่านเป็นอย่างดี
- สมาชิกในครอบครัวมีความรักและผูกพันต่อกัน
การแปลผลการประเมิน
ดัชนีชี้วัดความสุขคนไทยฉบับสั้นใหม่ 15 ข้อ มีคะแนนเต็มทั้งหมด 60 คะแนน เมื่อผู้ตอบได้ประเมินตนเองแล้ว และรวมคะแนนทุกข้อได้คะแนนเท่าไร สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ปกติที่กำหนดดังนี้
- 51-60 คะแนน หมายถึง มีสุขภาพจิตมากกว่าคนทั่วไป (Good)
- 44-50 คะแนน หมายถึง มีสุขภาพจิตเท่ากับคนทั่วไป (Fair)
- 43 คะแนน หรือน้อยกว่า หมายถึง มีสุขภาพจิตต่ำกว่าคนทั่วไป (Poor)
Work-Life Balance
การมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เราใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น การมีสุขภาพจิตที่ดี สามารถสร้างได้ด้วยตนเอง เพียงแค่ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนี้
- ตั้งเป้าหมายการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เรารู้สึกว่าเราอยากจะมาทำงานทุกวัน และวันทำงานของเรามีคุณค่า ดังนั้นควรตั้งเป้าหมายและจัดรายการลำดับการทำงานในแต่ละวันเพื่อการจัดการเวลาได้ดีขึ้น
- รู้จักผ่อนคลายจากสภาวะความเครียด หาเวลาพักเพื่อผ่อนคลายสัก 30 นาที เช่น ฟังเพลง ดูทีวี นั่งสมาธิ ทำสิ่งที่ชื่นชอบ สิ่งที่ทำแล้วสบายใจที่ไม่กระทบกับความสุขของคนอื่น เป็นต้น
- เคารพเวลาพักผ่อนของตนเอง การเป็นพนักงานที่ทำงานเก่ง ควรมาพร้อมกับสุขภาพและร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ด้วย เมื่อถึงเวลาพักผ่อนควรหยุดคิดถึงเรื่องงาน ไม่นำงานกลับมาทำที่บ้าน ปิดโทรศัพท์มือถือ ใช้เวลาพักผ่อนเพื่อเป็นรางวัลให้กับความอดทนและตั้งใจของตนเองในแต่ละวัน
- เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ ขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเพื่อแบ่งเบาภาระงานเพื่อช่วยให้จดจ่อกับงานและผลิตงานที่มีคุณภาพได้มากขึ้น
- พัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน โดยหมั่นฝึกฝนหาความรู้เพิ่มเติมในงานที่ทำ รวมทั้งถ้าได้รับมอบหมายงานใหม่ๆ ให้คิดว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจและมีความสุขกับการทำงาน
- ใช้เวลากับคนรอบตัวให้มากขึ้น การทำงานหนักหักโหมจนเกินไป ไม่เพียงแต่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย การแบ่งเวลาให้กับคนรอบตัวหรือคนในครอบครัวจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ และช่วยบรรเทาความเครียดหรือความทุกข์ภายในจิตใจ จึงไม่ควรละเลยคนรอบตัวที่ควรให้ความสำคัญ
- ใส่ใจกับตนเองมากขึ้น ควรแบ่งเวลาเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง เช่น ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรงพร้อมสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต
หากท่านต้องการที่จะนัดหมายเพื่อปรึกษาพูดคุยกับนักจิตวิทยา สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่พร้อมดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย และจิตใจของท่านให้แข็งแรงอย่างครบถ้วน สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่
Reference
- Work-Life Balanceปรับสมดุลชีวิตทำงาน
- ดูแลสุขภาพกาย-สุขภาพจิต เพื่อความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
- สุขภาพจิตที่ดี สร้างได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง
- แบบทดสอบดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตคนไทยฉบับสั้น 15 ข้อ