/ บทความ / PMS อาการของผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน แก้ไขได้จากฮอร์โมน
PMS อาการของผู้หญิงก่อนมีประจำเดือน แก้ไขได้จากฮอร์โมน

อาการของ PMS มักมีอาการเจ็บคัดตึงเต้านม ปวดท้อง ปวดศีรษะ น้ำหนักขึ้น ส่วนในทางสภาพจิตใจ มักมีอาการกระวนกระวาย อารมณ์แปรปรวน จนคนรอบข้างสังเกตเห็นได้ชัดเจน ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองหลังประจำเดือนมา 2-3 วัน แต่ในบางรายอาจจะมีอาการรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ สามารถรักษาได้โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ
PMS
PMS (Premenstrual Syndrome) คือ อาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนราว 1 – 2 สัปดาห์ ในเพศหญิงช่วงอายุ 20-40 ปี โดยสาเหตุของอาการนั้นมีปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือน ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการ PMS แต่ละคนอาจพบอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกัน โดยอาการมักดีขึ้นภายใน 4 วันหลังจากเริ่มมีประจำเดือน โดยอาการของ PMS สามารถแบ่งออกเป็นทางร่างกาย และทางสภาพจิตใจ ดังนี้
1. อาการทางด้านร่างกาย ได้แก่
- เจ็บเต้านม
- ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง ท้องอืด
- มีสิวขึ้น
- เหนื่อยง่าย อ่อนล้า
- อยากอาหารมากกว่าปกติทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
2. อาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรม ได้แก่
- มีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดหรือโกรธง่าย
- มีความตึงเครียดและไม่มีสมาธิ
- มีอารมณ์เศร้า วิตกกังวล
- มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ
ทั้งนี้ความรุนแรงของ PMS สามารถเพิ่มระดับจนพัฒนาเป็น PMDD หรือ Premenstrual Dysphoric Disorder โดยจะมีความรุนแรงทางด้านอารมณ์มากกว่า PMS คือ มีอารมณ์ก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ อยากฆ่าตัวตาย หรืออยากทำร้ายผู้อื่น ซึ่งจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างเร่งด่วน
สาเหตุของ PMS
สาเหตุสำคัญเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในช่วงระหว่างการตกไข่ในแต่ละรอบเดือน (ประมาณ 7-10 วันก่อนการมีประจำเดือน) แม้ว่าจะยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิด PMS ที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศและปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างไข่ตกในแต่ละรอบเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ โดยอาการ PMS จะหายไปในช่วงที่ไม่มีการตกไข่ เช่น ขณะตั้งครรภ์ หรือเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง เมื่อระดับฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ลดต่ำลง จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และมีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการต่างๆข้างต้น ก่อนมีประจำเดือนได้
- กรรมพันธุ์จากครอบครัว
ปวดท้องประจำเดือน อาจไม่ใช่ PMS เสมอไป!
อาการปวดท้องประจำเดือน อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะ PMS แต่ส่วนมากจะเป็นอาการของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หากปวดไม่มาก สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ อาจจะรับประทานยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้ามีอาการปวดมาก จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการและสาเหตุที่ชัดเจนว่ามาจากการปวดท้องในช่วงมีประจำเดือน หรือปวดท้องจากโรคแทรกซ้อนอื่นๆ
ทั้งนี้ ผู้ที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ควรมาพบแพทย์เช่นกัน เพื่อวินิจฉัยโรคแทรกซ้อนอื่นๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เช่น ฮอร์โมนน้ำนมผิดปกติ หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ รวมถึงความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
การบรรเทาอาการ PMS
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีน แคลเซียมและใยอาหาร เช่น ธัญพืชขัดสีน้อย ผัก และผลไม้ นม และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเกลือ น้ำตาล และไขมันสูง
- รับประทานอาหารไขมันต่ำ (Low Fat) เช่น บลูเบอรี่ มะเขือเทศ พริกหยวก เป็นต้น ซึ่งอาหารดังกล่าวสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้
- วางแผนการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อ เมื่อมีอาการอยากกินอาหารบ่อย ให้ลองแบ่งเป็นมื้อเล็กๆ วันละหลายๆ มื้อ เพื่อควบคุมน้ำหนักให้สมดุล
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ 3–5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เช่น เดินเร็ว ขี่จักรยาน หรือว่ายน้ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการเหนื่อยล้าและอาการซึมเศร้าได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง และจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น การทำสมาธิ การเล่นโยคะ การนวดผ่อนคลาย และการอ่านหนังสือ
- หลีกเลี่ยงกาแฟ บุหรี่ สุรา หลีกเลี่ยงของหวาน อาหารเค็ม อาหารรสจัด
- ทานอาหารเสริม เพื่อเสริมสร้างคสามแข็งแรงของร่างกาย อาทิ รับประทานวิตามินบี 6 วิตามินอี แคลเซียม และแมกนีเซียม ตามคำแนะนำของแพทย์
References
- PMS คืออะไร รู้ทันเรื่องฮอร์โมน อาการก่อนมีประจำเดือน
- วิธีแก้ PMS ของสาวๆ
- กลุ่มอาการ PMS (PREMENSTRUAL SYNDROME)
- อาการก่อนมีประจำเดือน