Categories
Uncategorized

ภาวะข้อไหล่ติดรักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

    /    บทความ    /    ภาวะข้อไหล่ติดรักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

วัคซีนไข้หวัดใหญ่

ภาวะข้อไหล่ติดรักษาได้ด้วยกายภาพบำบัด

 ข้อไหล่ติด เป็นอาการที่ไม่สามารถยกแขนได้สุด หากยกแขนจนถึงระดับเกือบเต็มที่จะรู้สึกปวด ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะเรื่องของการหยิบจับวัตถุที่ต้องยกไหล่ เช่น การเอื้อมมือหยิบของบนชั้นสูงๆ หรือการใส่เสื้อผ้า แต่สามารถรักษาให้หายได้ หากปฏิบัติถูกวิธี หรือได้รับการรักษาที่เหมาะสมด้วยแพทย์หรือนักกายภาพผู้ชำนาญ 

ภาวะข้อไหล่ติด (Frozen Shoulder / Adhesive Capsulitis) 

มีสาเหตุเกิดจากเยื่อหุ้มข้อไหล่ (capsule) มีการอักเสบ และเกิดการหดตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความยืดหยุ่นรอบข้อไหล่ลดลง ทำให้เมื่อใช้งานมีอาการเจ็บ ปวด และขยับได้ลดลง มีอาการติดแข็ง (stiffness) ตามมาได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยไหล่ติดส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิง ช่วงอายุ 40-60 ปี โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อ จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเพิ่มขึ้น ภาวะข้อไหล่ติดสามารถหายได้เอง แต่จะมีอาการได้ตั้งแต่ 6 เดือน – 2 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ

  1. ระยะอักเสบ (Painful) 6-9 สัปดาห์ มีอาการปวดมากเมื่อขยับในหลายทิศทาง
  2. ระยะยึดติด (Stiffness) 4-6 เดือน อาการปวดเริ่มดีขึ้น แต่รู้สึกขยับได้ลดลง
  3. ระยะคลายตัว (Resolution) 6 เดือน – 2 ปี อาการปวดน้อยลง เริ่มขยับได้ดีขึ้น

 

อาการของภาวะข้อไหล่ติด
  •  มีอาการปวดและตึงทั่วข้อไหล่เมื่อขยับ โดยเฉพาะเมื่อยกไหล่
  • ปวดมากตอนกลางคืน หรือ เมื่อนอนทับหัวไหล่
  • ขยับหัวไหล่ได้ลดลงในหลายทิศทาง
การรักษาภาวะข้อไหล่ติด
  •  กายภาพบำบัด โดยการใช้เครื่องมือเพื่อลดอาการปวด คลายเยื่อหุ้มข้อไหล่และกล้ามเนื้อรอบ ๆ หัวไหล่ ร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมุมองศาการเคลื่อนไหว ผู้ป่วยจะต้องทำกายภาพอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ระยะแรกที่มีอาการจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี ทำให้สามารถขยับหัวไหล่ได้มากขึ้น อาการเจ็บจากไหล่ติดก็จะลดลง
  • ให้ยาแก้ปวดและยาลดการอักเสบ สำหรับผู้ป่วยที่รู้สึกเจ็บบริเวณหัวไหล่ แพทย์จะให้ยาแก้ปวดและลดการอักเสบไปรับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวด
  • การผ่าตัด จะเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์จะเลือกใช้ในการรักษา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไหล่ติดอย่างมาก หรือรักษาด้วยวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล จึงจะแนะนำให้การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้องเพื่อเลาะตัดเยื่อบุข้อที่หนาและแข็งตัวออก ทำให้ข้อไหล่ขยับได้มากขึ้น และทำการดัดข้อไหล่ได้ง่ายขึ้น
ท่าออกกำลังกายช่วยเพิ่มมุมองศาหัวไหล่ (ROM Exercise)
 
  • ท่าไต่กำแพง (shoulder flexion) : ยืนวางมือไว้บนกำแพง ค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปด้านบน ได้มากที่สุดเท่าที่ไม่เจ็บ
  • หมุนแขนเข้าด้านในแนวนอน (shoulder internal rotation) : ยืนจับไม้หรือผ้าไว้ด้านหลังในแนวนอน จากนั้นออกแรงหุบแขนเข้าด้านใน สามารถใช้มืออีกข้างช่วยดึงได้
  • หมุนแขนเข้าด้านในแนวตั้ง (shoulder internal rotation) : ยืนจับไม้หรือผ้าไว้ด้านหลังในแนวตั้ง ไขว้แขนไว้ด้านหลัง จากนั้นหุบแขนพร้อมกับดันแขนขึ้นด้านบน สามารถใช้มืออีกข้างช่วยดึงได้
  • หมุนแขนออกด้านนอก (shoulder external rotation) : ยืนงอศอกชิดลำตัว มือจับบริเวณกำแพงหรือขอบประตู หันตัวออกด้านนอก หันไปด้านตรงข้ามกับหัวไหล่ที่เจ็บ สามารถทำได้ 10 ครั้งต่อเซต 2-3 เซตต่อวัน ทำเท่าที่ทำได้ ขณะที่ทำสามารถรู้สึกตึงเล็กน้อยได้แต่ไม่เจ็บ
เทคนิคและวิธีการต่างๆ ของการทำกายภาพบำบัดที่พรีโมแคร์
 
การทำกายภาพบำบัดจะเน้นการบำบัดฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยต่างๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับการออกกำลังกาย หรือใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดต่างๆ เช่น
 
  • ศาสตร์การนวดผ่อนคลายหลังออกกำลังกาย (Sport massage)
    การนวดกล้ามเนื้อสำหรับผู้ที่ออกกำลังกาย หรือผู้ที่ผ่านการใช้กล้ามเนื้อมาอย่างหนัก ซึ่งจะแตกต่างจากการนวดแบบอื่นๆ โดยการนวดผ่อนคลายหลังออกกำลังกายจะเน้นการนวดกล้ามเนื้อระดับลึก มีการใช้เทคนิคที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้ที่ออกกำลังกายได้ใช้กล้ามเนื้อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และลดโอกาสในการบาดเจ็บขณะออกกำลังกาย
 

 

  • การรักษาด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
    คลื่นเสียงความถี่สูง ที่สามารถลดอาการปวดบวมหรือการอักเสบของเนื้อเยื่อ ช่วยเร่งการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อ และคลายกล้ามเนื้อที่เกร็ง รวมไปถึงเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับข้อต่อในชั้นลึก นอกจากนี้ยังสามารถนำมาช่วยในการรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย
 
  • การบำบัดด้วยพลังงานคลื่นกระแทก (Shockwave)
    คลื่นกระแทกที่มีความสามารถในการกระตุ้นพังผืดที่ได้รับการบาดเจ็บ เพื่อให้ร่างกายได้สร้างเซลล์กล้ามเนื้อใหม่ ช่วยในการสลายพังผืดและทำให้ชั้นกล้ามเนื้อคลายตัวลง โดยพลังงานคลื่นกระแทกนั้นมีความสามารถในการนำมาลดการปวดเรื้อรังได้
 
  • ยืดกล้ามเนื้อโดยใช้ยางยืดเเรงต้าน (Theraband Exercise)
    Resistance Band หรือยางยืดออกกำลังกาย เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับฝึกกล้ามเนื้อโดยอาศัยแรงต้าน ช่วยให้กล้ามเนื้อที่มีขนาดเล็กเฉพาะจุดมีความแข็งแรง โดยไม่เพิ่มแรงกดดันกับข้อต่อต่างๆ สามารถใช้เล่นกล้ามเนื้อได้ทั่วทั้งตัวและเล่นได้หลากหลายท่า ช่วยบริหารและยืดกล้ามเนื้อ เพิ่มความแข็งแรง และความยืดหยุ่นให้ร่างกาย
 
หากท่านต้องการที่จะนัดหมายเพื่อทำกายภาพ หรือปรึกษาแพทย์สามารถเข้ามารับคำแนะนำได้ที่พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ที่พร้อมดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของท่านอย่างครบถ้วน สามารถสอบถามหรือนัดหมายล่วงหน้าที่นี่  

บทความที่เกี่ยวข้อง