Categories
Uncategorized

3 วัคซีนผู้สูงอายุ: ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ งูสวัด สร้างภูมิคุ้มกันให้วัยเก๋า

    /    บทความ    /    3 วัคซีนผู้สูงอายุ: ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ งูสวัด สร้างภูมิคุ้มกันให้วัยเก๋า

3 วัคซีนสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ สร้างภูมิคุ้มกันให้วัยเก๋า

3 วัคซีนสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ สร้างภูมิคุ้มกันให้วัยเก๋า

คุณป้าวัยประมาณ 50-60 ปีกำลังนอนอยู่บนเตียง และรับการฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุจากพยาบาลด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

เมื่ออายุมากขึ้น ภูมิคุ้มกันทางร่างกายก็อ่อนแอลง ส่งผลให้ความสามารถในการต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ ลดน้อยตามไปด้วย การฉีดวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย ทั้งยังมักมีอาการรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าคนวัยอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวร่วมด้วย

การฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในวิธีปกป้องผู้สูงอายุที่ดีที่สุด โดยเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนปอดอักเสบ และวัคซีนงูสวัด 3 วัคซีนสำคัญที่ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไปควรฉีด

1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่มีอาการคล้ายหวัด แต่มีอาการรุนแรงกว่ามาก โดยผู้สูงอายุอยู่ในกลุ่มที่เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และจะยิ่งเสี่ยงมากขึ้นหากมีโรคประจำตัวเรื้อรังอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ 

ทำไมต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่?

ไวรัสไข้หวัดใหญ่แพร่กระจายได้ง่ายและเปลี่ยนสายพันธุ์ที่ระบาดหนักไปทุกปี ทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง จึงควรรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี เนื่องจากจะแต่ละปีจะมีการอัปเดตวัคซีนให้ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด และเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไปด้วย วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และสามารถป้องกันการป่วยหนักหรือการต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้

เชื้อไวรัส Influenza ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่ในคนมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A, B, C ซึ่งเป้าหมายของการฉีดวัคซีนจะเป็นการป้องกันสายพันธุ์ A และ B ซึ่งมักมีอาการรุนแรงและทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้มากกว่าสายพันธุ์ C ที่มีอาการเพียงเล็กน้อยและติตต่อได้ยากกว่า 

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ในประเทศไทย มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ 

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์ มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัส Influenza สายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และสายพันธุ์ B 1 สายพันธุ์
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ มีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อไวรัส Influenza สายพันธุ์ A 2 สายพันธุ์ และสายพันธุ์ B 2 สายพันธุ์

คำแนะนำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดปีละ 1 เข็ม โดยสามารถฉีดได้ตลอดปี แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรฉีดก่อนช่วงเวลาที่มักมีการระบาดในไทย คือ ก่อนฤดูฝนถึงก่อนฤดูหนาว เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อจากลูกหลานและคนใกล้ชิด และหลังได้รับวัคซีนอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์จึงจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่

วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดร่วมกับวัคซีนชนิดอื่น ซึ่งรวมถึงวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องเว้นระยะ ผู้สูงอายุสามารถขอรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ตามสถานพยาบาลและคลินิกใกล้บ้าน โดยควรนัดหมายล่วงหน้าเพื่อให้แน่ใจว่ามีวัคซีนพร้อมสำหรับฉีด

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่นี่

2. วัคซีนปอดอักเสบ 

โรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal disease) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคปอดอักเสบที่พบในปัจจุบัน โดยเกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ในหลายตำแหน่ง เช่น การติดเชื้อและอักเสบในหูชั้นกลาง ไซนัส และหลอดลม ในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดอาการติดเชื้อในปอด ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ​ และภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ โรคปอดอักเสบที่รุนแรงอาจถึงขั้นทำให้พิการทางการได้ยิน สมองได้รับความเสียหาย และถึงแก่ชีวิตได้

ทำไมต้องฉีดวัคซีนปอดอักเสบ?

โรคปอดอักเสบพบได้มากที่สุดในกลุ่มผู้สูงอายุ​ 65 ปีขึ้นไป ด้วยภูมิคุ้มกันที่น้อยลงทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อได้สูง โดยเฉพาะ​อย่าง​ยิ่งในผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว 

วัคซีนปอดอักเสบมีทั้งหมด 2 ชนิด คือ ชนิด 13 สายพันธุ์ และ 23 สายพันธุ์ 

  • วัคซีนปอดอักเสบชนิดคอนจูเกต (PCV13) ป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสทั้งหมด 13 สายพันธุ์ 
  • วัคซีนปอดอักเสบชนิดโพลีแซคคาไรด์ (PPSV23) ป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสทั้งหมด 23 สายพันธุ์ 

คำแนะนำการฉีดวัคซีนปอดอักเสบสำหรับผู้ที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

วัคซีนปอดอักเสบเป็นวัคซีนที่ฉีดครั้งเดียวตลอดชีวิต โดยสำหรับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดตามคำแนะนำต่อไปนี้ 

  • ผู้สูงอายุที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน ควรฉีดวัคซีนปอดอักเสบชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) 1 ครั้ง และฉีดวัคซีนปอดอักเสบชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) อีก 1 ครั้ง โดยเว้นระยะห่าง 1 ปี
  • ผู้สูงอายุที่เคยได้รับวัคซีนมาแล้ว ควรฉีดวัคซีนปอดอักเสบชนิด 23 สายพันธุ์ (PPSV23) กระตุ้นอีก 1 ครั้ง เมื่อมีอายุ 65 ปี

3. วัคซีนงูสวัด 

โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัส Varicella zoster virus (VZV) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับอีสุกอีใส แต่ติดต่อได้ยากกว่าอีสุกอีใส เนื่องจากผู้ป่วยงูสวัดจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นในระยะที่มีตุ่มพุพองจากงูสวัดจนถึงระยะเริ่มตกสะเก็ดเท่านั้น และจะต้องเป็นการสัมผัสโดยตรงถึงจะติดต่อกัน

อาการของโรคงูสวัดเริ่มแรกอาจรู้สึกปวดหรือแสบร้อน มีผื่น และเกิดตุ่มน้ำใสที่จะค่อยๆ ตกสะเก็ดหายไปเอง พบได้บ่อยตามลำตัวด้านซ้ายหรือด้านขวา ซึ่งแม้ตุ่มพองเหล่านี้จะหายไปแล้วก็อาจยังมีอาการปวดอย่างต่อเนื่อง ที่เรียกว่าอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลังการติดเชื้อ (Postherpetic neuralgia)

ทำไมต้องฉีดวัคซีนงูสวัด?

วัคซีนงูสวัดเป็นอีกหนึ่งวัคซีนสำคัญที่แนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้นนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นให้เชื้ออีสุกอีใสที่แฝงอยู่ในร่างกายจากการติดเชื้อในอดีตกลับมาในรูปแบบของเชื้องูสวัดได้ ซึ่งจากสถิติ กลุ่มที่ติดเชื้อสูงสุดในทุกๆ ปีก็คือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปนั่นเอง 

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีความเสี่ยงเกิดอาการปวดตามเส้นประสาทหลังหายจากการติดเชื้อมากกว่าคนกลุ่มอื่น รวมถึงอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่อาจตามมา เช่น สูญเสียการมองเห็น ภาวะอักเสบของสมองที่ทำให้มีอาการหน้าเบี้ยว สูญเสียการได้ยิน และมีปัญหาในการทรงตัว

คำแนะนำการฉีดวัคซีนงูสวัด

วัคซีนงูสวัดฉีดทั้งหมด 1 เข็มตลอดชีวิต โดยหากเคยมีประวัติเป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัดมาก่อน แนะนำให้ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนงูสวัดทุกคน ไม่ว่าจะเคยหรือไม่เคยเป็นสุกใสหรืองูสวัดมาก่อนก็ตาม

ข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีน

วัคซีนสำหรับผู้สูงอายุสามารถฉีดได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการเตรียมตัวใดๆ เพียงดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากรู้สึกไม่สบาย มีไข้ หนาวสั่น รวมถึงมีอาการที่อาจเกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว หรืออาการอื่นๆ ที่คล้ายหวัด ควรเลื่อนการนัดหมายฉีดวัคซีนออกไปก่อนจนกว่าจะหายดี และหากมีโรคประจำตัว มีประวัติแพ้ยาหรือวัคซีนมาก่อน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

การฉีดวัคซีนโดยทั่วไปมีผลข้างเคียงไม่รุนแรง อาการที่พบได้บ่อย เช่น ปวด บวม หรือแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเองใน 1-2 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงกว่าเดิม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงพร้อมลุยทุกกิจกรรม นัดหมายทีมแพทย์พรีโมแคร์วันนี้ เพื่อรับ 3 วัคซีนสำหรับวัยเก๋าในราคาพิเศษ พร้อมบริการปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ควรรับวัคซีนอื่นๆ เพิ่มตามความต้องการด้านสุขภาพ 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ @primocare 
โทร 02-038-5595, 082-527-9924

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง