Categories
Uncategorized

ติดโควิดซ้ำรอบ 2 มีอาการอย่างไร? กลุ่มเสี่ยงควรระวัง!

    /    บทความ    /    ติดโควิดซ้ำรอบ 2 มีอาการอย่างไร? กลุ่มเสี่ยงควรระวัง!

ติดโควิดซ้ำรอบ 2 มีอาการอย่างไร? กลุ่มเสี่ยงควรระวัง!

ติดโควิดซ้ำรอบ 2 มีอาการอย่างไร? กลุ่มเสี่ยงควรระวัง!

เคยติดโควิด-19 มาก่อน มีโอกาสติดเชื้อซ้ำรอบ 2 ได้ไหม มีวิธีสังเกตอาการอย่างไร และใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง หาคำตอบในบทความนี้

ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ แต่นั่นก็ไม่ได้รับประกันว่าจะไม่มีโอกาสติดโควิด-19 ซ้ำรอบ 2 ได้ บทความนี้คุณหมอพรีโมแคร์มาไขข้อสงสัย ติดเชื้อซ้ำเกิดขึ้นได้จริงไหม มีวิธีสังเกตอาการต่างจากรอบแรกอย่างไร และใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องระวัง

อาการของการติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำ

ปัจจุบันไม่มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่าอาการของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำรอบ 2 จะรุนแรงกว่ารอบแรกหรือมีความแตกต่างกันอย่างไร และส่วนมากยังคงมีอาการหลักๆ ตามเดิม เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส หายใจไม่อิ่ม เหนื่อยง่าย เป็นต้น 

เมื่อไรก็ตามที่สังเกตอาการเข้าข่ายการติดเชื้อโควิด-19 เหล่านี้ ควรแยกตัวจากผู้อื่นทันทีและอาจทำการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วยชุดตรวจโควิด (Antigen Test Kit) ก่อนจะติดต่อเข้ารับการตรวจยืนยันและรักษาตามแนวทางปฏิบัติต่อไป

ทำไมถึงติดโควิดซ้ำรอบ 2?

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซ้ำรอบ 2 ทั่วโลกมีจำนวนไม่น้อยและไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อสามารถลดลงเมื่อเวลาผ่านไป หรือแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็อาจลดลงได้เช่นกัน

นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งที่คาดว่าอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ก็คือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในกรณีที่พบสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น หรือแข็งแกร่งมากขึ้นจนสามารถต่อสู้กับภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราที่เกิดจากการติดเชื้อในครั้งก่อน หรือแม้กระทั่งจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็ตาม

กลุ่มเสี่ยงควรระวัง ติดโควิดซ้ำรอบ 2

ปัจจัยที่ทำให้เราเสี่ยงต่อการติดเชื้อรอบ 2 มากขึ้นนั้นยังต้องมีการศึกษาและเก็บข้อมูลสถิติเพิ่มเติมอีกมาก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคาดว่ามีสาเหตุหลักๆ 2 ข้อ คือ

  • ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 การศึกษาที่อิงข้อมูลจากรายงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 ชี้ว่าผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมีโอกาสติดโควิดซ้ำรอบ 2 มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้วถึง 2.34 เท่า เนื่องจากการติดเชื้อซ้ำส่วนใหญ่พบได้มากในผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือยังฉีดไม่ครบโดส
  • มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทั้งยังเป็นกลุ่มที่ร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่าคนทั่วไป จึงเสี่ยงติดเชื้อซ้ำได้ง่าย

ทั้งนี้ ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วก็อาจติดเชื้อซ้ำได้เช่นกัน แต่มีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 

หลังจากติดเชื้อโควิด-19 จะมีภูมิคุ้มกันปกป้องนานแค่ไหน?

ภูมิคุ้มกันโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการติดเชื้อนั้นมักลดลงเร็วกว่าภูมิคุ้มกันจากวัคซีน แต่ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าคงอยู่ได้นานเท่าไร โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะไม่ติดเชื้อซ้ำในช่วง 60-90 วันหลังจากติดเชื้อ ดังนั้นจึงแนะนำว่าแม้จะเคยติดเชื้อแล้วก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส และรับการฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อการป้องกันที่ยาวนานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ป้องกันจากการติดเชื้อโควิด-19 รอบ 2 อย่างไร?

การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องตัวเราเองและคนรอบข้างจากเชื้อโควิด-19 ถึงแม้จะไม่ได้ป้องกัน 100% และยังมีโอกาสติดเชื้อหลังรับวัคซีนแล้ว แต่วัคซีนก็ช่วยลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้อย่างมาก จึงควรฉีดวัคซีนป้องกันไว้ ไม่ว่าจะเคยคิดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ แม้จะได้รับวัคซีนครบโดสแล้วก็ยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันตัวเองควบคู่กันไปด้วยเพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ

  • สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง โดยปิดจมูกและปากมิดชิดเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ 
  • เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตร
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัดหรือมีการถ่ายเทอากาศไม่ดี
  • ล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% 
  • หากไอจามขณะใส่หน้ากากอนามัย ไม่ต้องใช้มือปิดปากหรือถอดหน้ากาก เพราะอาจทำให้มือสัมผัสเชื้อ หากไม่ได้ใส่หน้ากากให้ใช้ทิชชู่ปิดปากแล้วทิ้งโดยมัดถุงทันที หรือยกต้นแขนด้านในขึ้นมาปิดปากและจมูกไว้ 
  • ไม่นำมือมาสัมผัสตามใบหน้า ปาก จมูก และดวงตา
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อตามพื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะกินข้าว เป็นต้น

อย่าลืมหมั่นสังเกตตัวเองและคนรอบข้างเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 อย่างมั่นใจและปลอดภัย ทุกคำถามทุกปัญหาเรื่องสุขภาพ นัดหมายเพื่อปรึกษาคุณหมอพรีโมแคร์ได้เลยที่นี่ 

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีจำหน่ายชุดตรวจโควิด ATK ให้คุณตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยตนเองที่บ้าน สั่งซื้อออนไลน์ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ราคาเริ่มต้น 150.- คลิกเลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

รู้ก่อนถอดใจ ทำไมออกกำลังกาย-คุมอาหารแล้วน้ำหนักไม่ลด?

    /    บทความ    /    รู้ก่อนถอดใจ ทำไมออกกำลังกาย-คุมอาหารแล้วน้ำหนักไม่ลด?

รู้ก่อนถอดใจ ทำไมออกกำลังกาย-คุมอาหารแล้วน้ำหนักไม่ลด?

รู้ก่อนถอดใจ
ทำไมออกกำลังกาย-คุมอาหารแล้วน้ำหนักไม่ลด?

อะไรกันแน่ที่ทำให้ออกกำลังกาย คุมอาหาร แล้วน้ำหนักไม่ลดลง และจะมีวิธีแก้อย่างไรการลดน้ำหนักครั้งนี้ถึงจะเห็นผลตามเป้าหมาย

หลายคนที่กำลังพยายามลดน้ำหนักอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่บั่นทอนจิตใจ แม้จะทุ่มเทออกกำลังกายและคุมอาหารการกินเป็นอย่างดี แต่น้ำหนักก็ไม่ลดลง หรือซ้ำร้ายกลับยิ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ยังไม่ถึงเวลาถอดใจ มาเช็คกันก่อนว่าอะไรกันแน่ที่อาจเป็นสาเหตุให้ออกกำลังกายแล้วน้ำหนักไม่ลดลง และจะมีวิธีแก้อย่างไรการลดน้ำหนักครั้งนี้ถึงจะเห็นผลตามที่ตั้งไว้

ออกกำลังกายเท่าไรน้ำหนักก็ไม่ลด เป็นเพราะอะไร? 

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการออกกำลังกายและควบคุมอาหารเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องควบคุม ลองสำรวจดูว่าตัวเองมีพฤติกรรมหรือปัจจัยเหล่านี้หรือไม่ เพราะแม้บางอย่างจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็อาจส่งผลต่อน้ำหนักได้อย่างไม่น่าเชื่อ

1. กินมื้อดึก

อาหารมื้อดึกที่ใกล้เวลานอนมากเกินไปอาจส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกาย รวมถึงระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลินเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคของการเผาผลาญไขมัน ถ้าไม่อยากให้ความพยายามในการลดน้ำหนักสูญเปล่าจึงควรกินอาหารเย็นอย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนนอน นอกจากนี้ในช่วงเวลาพักผ่อน เช่น ดูทีวี ดูซีรีส์ หรือเล่นเกม ก็ต้องคอยเตือนตัวเองให้กินของว่างอย่างมีสติ เพราะคนเรามีแนวโน้มจะกินมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวเมื่อทำอย่างอื่นพร้อมกันไปด้วย 

2. มีความเครียดสูง

เครียดแล้วกินเยอะมีอยู่จริง โดยฮอร์โมนความเครียดนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้อยากกินของทอดของมันทั้งหลายเพื่อเบี่ยงเบนหรือเยียวยาตัวเองจากความเครียดและความรู้สึกต่างๆ แถมยังกระตุ้นให้ร่างกายเผาผลาญไขมันน้อยลงจนเกิดการสะสมไขมันเพิ่มขึ้นอีกด้วย

3. นอนไม่เพียงพอ

การอดนอนส่งผลให้ระบบเผาผลาญทำงานช้าลง ทั้งยังทำให้รู้สึกเพลีย ไม่กระฉับกระเฉง จนบางครั้งก็พลอยทำให้ไม่อยากออกกำลังกายและส่งผลต่อการลดน้ำหนักในทางอ้อม ไม่เพียงเท่านั้น ร่างกายที่อ่อนเพลียยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเลือกกินของหวานหรืออาหารไขมันสูงที่จะทำให้น้ำหนักเพิ่มมากขึ้น โดยมีวิจัยชี้ว่าผู้ที่นอนไม่เพียงพอจะกินอาหารเพิ่มขึ้นถึง 300 แคลอรี่เมื่อเทียบกับผู้ที่พักผ่อนอย่างเพียงพอ

4. ปัจจัยด้านเพศ

ในระยะสั้นเพศชายมีแนวโน้มลดน้ำหนักได้เร็วกว่าเพศหญิง เนื่องจากผู้ชายมักมีมวลกล้ามเนื้อที่ช่วยในการเผาผลาญแคลอรี่มากกว่ามวลไขมัน และการลดไขมันหน้าท้องมักเป็นเรื่องที่ยากสำหรับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะไขมันส่วนใหญ่ของผู้ชายจะอยู่ที่หน้าท้อง ในขณะที่ไขมันของผู้หญิงนั้นกระจายอยู่ทั่วร่างกาย อย่างไรก็ตาม หากอดทนออกกำลังกายและคุมอาหารต่อไปได้ ในระยะยาวทั้งเพศหญิงและชายต่างก็มีอัตราการลดน้ำหนักที่พอกัน

5. ระบบเผาผลาญไม่ดี

ระบบเผาผลาญที่ไม่ดีส่งผลให้ร่างกายย่อยสลายไขมันช้าลง ซึ่งอาจเป็นผลจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรืออาจเป็นเพราะมีมวลกล้ามเนื้อน้อยได้เช่นกัน เนื่องจากคนที่มีมวลกล้ามเนื้อเยอะมักจะเผาผลาญแคลอรี่ได้ดีกว่าคนที่มีไขมันในร่างกายเยอะกว่ากล้ามเนื้อ นอกจากนี้อายุที่เพิ่มขึ้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เผาผลาญช้า เนื่องจากมีมวลกล้ามเนื้อลดลงไปตามอายุด้วย

6. ปัญหาสุขภาพและการใช้ยา

บางครั้งปัญหาสุขภาพที่แฝงอยู่ก็เป็นตัวการของการลดน้ำหนักที่ไม่เห็นผล เช่น โรคบูลิเมีย ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคการกินผิดปกติ โรคหัวใจ ความผิดปกติทางฮอร์โมน และปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับอย่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงภาวะขาดไทรอยด์ (Hypothyroidism) ซึ่งส่งผลโดยตรง เนื่องจากฮอร์โมนไทรอยด์มีหน้าที่ควบคุมระบบเผาผลาญของร่างกาย ผู้ที่มีภาวะนี้จึงมีอัตราการเผาผลาญไม่ดีและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นง่าย 

นอกจากนี้ ยารักษาโรคหลายชนิดก็มีผลข้างเคียงเป็นน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น เมื่อรับประทานยาเหล่านี้การลดน้ำหนักจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่เคย เช่น ยาแก้แพ้ ยาคุมกำเนิด ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาเบาหวาน ยาต้านลมชัก ยาลดความดันโลหิต ยารักษาโรคไบโพลาร์และโรคจิตเภท เป็นต้น หากสังเกตว่าระหว่างใช้ยา มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ แนะนำให้สอบถามแพทย์ที่ดูแลรักษาถึงผลข้างเคียงของยาชนิดนั้นๆ

ทำความรู้จัก ภาวะน้ำหนักนิ่ง (Hit the plateau) 

เมื่อออกกำลังกายหรือควบคุมอาหารไปสักระยะหนึ่ง หลายคนจะเริ่มมีภาวะน้ำหนักนิ่ง หรือที่รู้จักในชื่อเรียกภาษาไทยว่า “หิดปลาทู (Hit the Plateau)”  ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายเริ่มปรับตัวกับการลดน้ำหนักได้ 

ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกที่เริ่มออกกำลังกายและควบคุมแคลอรี่จากอาหาร ร่างกายจะดึงไกลโคเจนซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ถูกสะสมไว้ตามกล้ามเนื้อและตับมาเผาผลาญเป็นพลังงาน โดยส่วนประกอบของไกลโคเจนนั้นคือน้ำเป็นหลัก จึงเท่ากับว่าน้ำหนักที่ลดลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงแรกก็คือน้ำเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง

หลังจากในช่วงที่ร่างกายดึงไกลโคเจนมาใช้ น้ำหนักที่ลดลงในช่วงถัดมาจะเกิดจากการสูญเสียกล้ามเนื้อและไขมันบางส่วน ซึ่งมวลกล้ามเนื้อนั้นส่งผลต่ออัตราการเผาผลาญโดยตรง เพราะเมื่อกล้ามเนื้อลดน้อยลง อัตราการเผาผลาญก็จะต่ำลงไปด้วย ทำให้เมื่อนานไปร่างกายสามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้น้อยลงกว่าเดิม เป็นคำตอบว่าทำไมน้ำหนักถึงลดลงช้า และเมื่อไรก็ตามที่แคลอรี่ที่ถูกเผาผลาญไปนั้นมีจำนวนเท่ากับแคลอรี่ที่ได้รับ เราก็จะเข้าสู่ภาวะน้ำหนักนิ่ง (Plateau) 

ทำอย่างไรให้ผ่านภาวะน้ำหนักนิ่งไปได้?

เมื่อเข้าสู่ภาวะน้ำหนักนิ่ง หากพอใจกับน้ำหนักในปัจจุบันแล้วก็สามารถทำตามแผนลดน้ำหนักเดิมเพื่อคงน้ำหนักที่ระดับเดิมต่อไป แต่หากต้องการให้น้ำหนักลดลงอีกก็ต้องปรับแผนการลดน้ำหนักโดยเพิ่มการออกกำลังกายหรือลดปริมาณแคลอรี่จากอาหาร 

เทคนิคต่อไปนี้อาจช่วยให้เราก้าวผ่านภาวะน้ำหนักนิ่งไปได้

  • สังเกตพฤติกรรมการกินและการออกกำลังกายของตัวเองว่ากินเพิ่มขึ้นหรือออกกำลังกายน้อยลงหรือไม่ รวมถึงปัจจัยดังข้างต้นที่อาจส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงยาก เช่น กินมื้อดึก อดมื้อเช้า เครียด นอนไม่พอ เป็นต้น
  • หากิจกรรมผ่อนคลายที่ได้เพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย แทนที่จะตั้งเป้าการออกกำลังกายที่หนักเกินจนทำตามแผนได้ยาก
  • เพิ่มการออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่ง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งจะช่วยให้เพิ่มอัตราการเผาผลาญแคลอรี่ให้มากขึ้นตามไปด้วย
  • จำกัดการรับประทาน แต่ควรทำอย่างพอดี โดยปกติจะไม่แนะนำให้ลดอาหารต่ำกว่า 1,200 แคลอรี่ เพราะอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดความรู้สึกหิวมากขึ้นและอาจส่งผลตรงกันข้าม คือมีภาวะกินเยอะกว่าปกติได้

สุดท้ายนี้ อย่าลืมถามตัวเองด้วยว่า เป้าหมายการลดน้ำหนักของเรานั้นสูงจนทำตามได้ยากเกินไปหรือเปล่า บางทีอาจจะถึงเวลาที่เราควรจะคงน้ำหนักที่ระดับสุขภาพดีและน่าพึงพอใจอยู่แล้วในปัจจุบันก็เป็นได้

หากพยายามออกกำลังกายและควบคุมอาหารอย่างเต็มที่แล้วน้ำหนักยังไม่ลด หรือไม่สามารถเอาชนะภาวะน้ำหนักนิ่งได้ การขอคำปรึกษาจากแพทย์และนักโภชนาการก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ทราบถึงสาเหตุที่น้ำหนักไม่ลดลง และเพื่อการจัดการอย่างตรงจุด โดยผู้เชี่ยวชาญสามารถให้คำแนะนำในการวางแผนด้านการออกกำลังกายและอาหารการกินที่ถูกต้องเหมาะสมกับเรามากที่สุด

แค่ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ก็เข้าสู่เส้นชัยสุขภาพดีได้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีทีมแพทย์ที่พร้อมดูแลและให้คำปรึกษาทุกเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ

คลิกดูบริการเพิ่มเติม หรือนัดหมายล่วงหน้าที่ LINE @primoCare
หรือโทร 02-038-5595, 082-527-9924
เปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์ 8.00-18.00 น.

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

10 ท่าบริหารนิ้วล็อคง่ายๆ ปลดล็อคอาการปวดเกร็งนิ้วมือใน 1 นาที

    /    บทความ    /    10 ท่าบริหารนิ้วล็อคง่ายๆ ปลดล็อคอาการปวดเกร็งนิ้วมือใน 1 นาที

10 ท่าบริหารนิ้วล็อคง่ายๆ ปลดล็อคอาการปวดเกร็งนิ้วมือใน 1 นาที

10 ท่าบริหารนิ้วล็อคง่ายๆ
ปลดล็อคอาการปวดเกร็งนิ้วมือใน 1 นาที

รู้สาเหตุของนิ้วล็อคที่มากกว่าการกดมือถือ และเทคนิคป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยท่าบริหารนิ้วล็อค ลดอาการปวดเกร็งใน 1-2 นาที

นิ้วล็อค เกิดจากอะไร และมีวิธีสังเกตอย่างไร คุณหมอพรีโมแคร์มีคำตอบมาฝากในบทความนี้ พร้อมกับ 10 ท่าบริหารนิ้วล็อคง่ายๆ ที่ควรทำเป็นประจำเพื่อเพิ่มการป้องกันสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง และบรรเทาความปวด ฝืดตึงของเส้นเอ็นบริเวณมือที่มักเป็นสัญญาณเริ่มแรกของอาการนิ้วล็อค

ในยุคดิจิทัลเรามักคุ้นเคยกับอาการนิ้วล็อคที่เกิดจากการกดสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต หรือการคลิกเมาส์และพิมพ์งานเป็นประจำ แต่จริงๆ แล้วอาการนิ้วล็อคสามารถเกิดขึ้นได้จากการทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ต้องออกแรงหรือเกร็งนิ้วมือในท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานาน รวมถึงความเสี่ยงอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน เก๊าท์ และข้ออักเสบรูมาตอยด์

สาเหตุของอาการนิ้วล็อค

ตามนิ้วมือและฝ่ามือของเรามีเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่ยึดกระดูกเข้ากับกล้ามเนื้อบริเวณท้องแขน โดยเส้นเอ็นเหล่านี้จะถูกห่อหุ้มด้วยปลอกเส้นเอ็นที่มีของเหลวหล่อลื่น ช่วยให้เราสามารถเคลื่อนไหวและงอนิ้วมือได้อย่างคล่องตัว แต่เมื่อเส้นเอ็นและเปลือกเส้นเอ็นเกิดอาการอักเสบหรือบวมขึ้นจนไม่สามารถเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระตามปกติ ก็จะส่งผลให้นิ้วมือในตำแหน่งของเส้นเอ็นดังกล่าวไม่สามารถงอหรือขยับได้อย่างเต็มที่ไปด้วย

สาเหตุที่ทำให้เส้นเอ็นและปลอกเส้นเอ็นอักเสบจนอาการนิ้วล็อค (Trigger Finger) ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักเกิดจากการประกอบอาชีพหรือทำงานอดิเรกที่มีการใช้มือและนิ้วมือในท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน นอกจากนี้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น เบาหวาน เก๊าท์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ รวมถึงผู้ที่ได้รับผ่าตัดโรคมือชาจากผังผืดกดทับเส้นประสาทข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) ก็เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดนิ้วล็อคตามมาได้มาก

สังเกตอาการนิ้วล็อคอย่างไร?

ผู้ป่วยที่มีอาการนิ้วล็อคมักจะเริ่มจากมีอาการเล็กน้อย ก่อนจะค่อยๆ รุนแรงขึ้น ดังนี้

  • ข้อนิ้วตึงฝืด ปวด หรือมีเสียงเมื่อขยับหรืองอนิ้ว โดยมีอาการมากในตอนเช้า และจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อขยับใช้งานนิ้วบ่อยๆ
  • ปวดบริเวณโคนนิ้วเมื่อขยับนิ้วหรือออกแรงกด
  • หากอาการรุนแรง นิ้วอาจงอค้างและเด้งเหยียดตรงเอง ต้องอาศัยมืออีกข้างช่วยจึงจะค่อยๆ เหยียดนิ้วให้ตรงได้ 

10 ท่าบริหารคลายนิ้วล็อค

ป้องกันและบอกลาอาการนิ้วล็อคตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย 10 ท่าบริหารนิ้วมือ ฝ่ามือ และข้อมือง่ายๆ ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านกายภาพบำบัด เพียงสละเวลาวันละ 10-15 นาที บริหารท่าละ 3-5 ครั้งตลอดวัน หรือเลือกทำเท่าที่ไหว แต่หากในช่วงแรกรู้สึกเจ็บหรือตึงเกินไป ควรพักสักวันสองวันแล้วค่อยกลับมาลองทำใหม่อีกครั้ง  

1 ท่าบิดข้อมือ

  • กำมือในท่ากดไลค์และวางมือบนโต๊ะ 
  • บิดข้อมือให้นิ้วเอนเข้าหาตัว ทำค้างไว้ 2-3 วินาที แล้วค่อยๆ คลายออก 
  • ทำซ้ำ 10 ครั้งกับมือทั้ง 2 ข้าง

2 ท่าเอนข้อมือไปด้านข้าง

  • คว่ำมือลงบนโต๊ะ ข้อมือเหยียดตรง 
  • พยายามออกแรงที่ข้อมือให้บิดไปทางขวาให้ได้มากที่สุด ค้างไว้ 2-3 วินาที แล้วกลับมาตรงกลางตามเดิม 
  • จากนั้นออกแรงบิดไปทางซ้าย และกลับมาตรงกลาง 
  • ทำซ้ำ 10 ครั้งกับมือทั้ง 2 ข้าง

3 ท่ายืดนิ้ว

  • วางมือคว่ำราบกับโต๊ะ 
  • ใช้มืออีกข้างค่อยๆ ยกนิ้วที่มีอาการขึ้นมาให้สูงที่สุด โดยที่นิ้วอื่นๆ ยังคงวางแนบโต๊ะ และนิ้วที่ถูกยกไม่รู้สึกตึงหรือเจ็บเกินไป 
  • ดึงค้างไว้ 2-3 วินาทีแล้วปล่อย 
  • ทำซ้ำ 5 ครั้งกับมือทั้ง 2 ข้าง วันละ 3 เซ็ต 
  • สามารถทำกับทุกนิ้วที่เหลือได้เช่นกัน แม้จะไม่มีอาการนิ้วล็อค

4 ท่างอนิ้ว

  • แบมือ งอนิ้วโป้งเข้าหาฝ่ามือและพยายามเอื้อมไปแตะปลายนิ้วชี้ให้ได้มากที่สุด 
  • ทำค้างไว้ 10 วินาที และทำซ้ำกับนิ้วอื่นๆ ตลอดวัน วันละ 3-4 ครั้ง

5 ท่าฝึกความแข็งแรงของนิ้วด้วยหนังยาง

  • จีบนิ้วชี้และนิ้วโป้งเข้าด้วยกันโดยให้ปลายนิ้วสัมผัสกันดี 
  • สวมหนังยางบนนิ้วที่จีบ เปิดนิ้วออกเพื่อดันหนังยางให้ยืดออก 
  • หากแรงต้านจากหนังยางน้อยไปหรือเริ่มชินแล้วสามารถเพิ่มจำนวนเส้นจนมีแรงต้านที่เหมาะสม
  • ทำซ้ำ 10 ครั้งกับมือทั้ง 2 ข้าง วันละ 4-5 ครั้ง

6 ท่าบีบมือ

  • วางลูกบอลเล็กๆ หรือสิ่งของที่กำได้กลางฝ่ามือ 
  • ออกแรงบีบให้แน่น แล้วค่อยๆ คลายมือออก
  • ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง วันละ 2-3 เซ็ต โดยอาจเปลี่ยนวัตถุที่ใช้กำไปเรื่อยๆ

7 ท่าแนบนิ้ว

  • ยกมือขึ้นมาข้างหน้า ยืดนิ้วที่มีอาการออกมาพร้อมกับนิ้วที่ปกติ 
  • ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ของมืออีกข้างกดทั้ง 2 นิ้วเข้าหากันเบาๆ 
  • ทำค้างไว้ 2-3 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง วันละ 3 เซ็ตตลอดวัน

8 ท่าแยกนิ้ว

  • คล้ายๆ ท่าแนบนิ้ว แต่เปลี่ยนจากแนบนิ้วเข้าหากันเป็นแยกนิ้วออกจากกันในรูปตัว V 
  • ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งของอีกมือกดนิ้วที่เป็นรูปตัว V เข้าหากัน 
  • ทำซ้ำ 5 ครั้ง วันละ 3 เช็ตตลอดวัน

9 ท่าม้วนนิ้ว

  • หงายมือตั้งบนโต๊ะ อาจวางข้อศอกไว้บนโต๊ะเช่นเดียวกัน และให้ฝ่ามือหันเข้าหาตัว 
  • จากนั้นกำมือหลวมๆ แล้วยืดนิ้วชี้และนิ้วโป้งออกมาพร้อมกันจนสุด 
  • ทำค้างไว้ 2-3 วินาที ทำซ้ำทั้งหมด 10 ครั้ง

10 ท่ากางนิ้ว

  • แบมือกางนิ้วทั้ง 5 ออกให้กว้างที่สุด 
  • ค่อยๆ งอนิ้วลงมาใน 3 ระดับ ริมฝ่ามือ-กลางฝ่ามือ-กำมือ โดยให้กางนิ้วออกก่อนจะงอนิ้วในแต่ละระดับทุกครั้ง และในระดับล่างนิ้วจะงอมากที่สุดจนสัมผัสกลางฝ่ามือในท่ากำ 
  • จากนั้นให้งอนิ้วทีละนิ้วมาสัมผัสที่กลางฝ่ามือ 
  • ตบท้ายด้วยการกดนวดฝ่ามือในตำแหน่งต่างๆ 
  • ทำสลับกับมืออีกข้างวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เซ็ต 

นอกจากวิธีคลายนิ้วล็อคด้วยท่ายืดนิ้วมือที่ควรทำเป็นประจำ การหยุดให้มือและนิ้วมือได้พักเมื่อเริ่มรู้สึกตึงหรือปวดก็เป็นอีกสิ่งที่ไม่ควรละเลย ไม่เช่นนั้นอาจตามมาด้วยอาการที่รุนแรงขึ้น เช่น นิ้วติด นิ้วฝืด งอหรือเหยียดนิ้วไม่ได้ ชาหรือปวดในข้อนิ้ว เป็นต้น

หากสังเกตอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์ทันที โดยการรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง และอาจมีการรักษาและบำบัดหลายวิธีร่วมกันไป เช่น การพักการใช้งาน การใส่เฝือกนิ้ว การทำท่ายืดนิ้วมือ รวมถึงการให้ยาแก้อักเสบเพื่อช่วยบรรเทาอาการ

หยุดทรมานตัวเองด้วยอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ นิ้วล็อค และออฟฟิศซินโดรม ที่อาจเรื้อรังจนร่างกายฟ้องว่ารับไม่ไหวในวันหน้า ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์และนัดรับกายภาพบำบัดได้ตั้งแต่วันนี้ที่ LINE @primoCare หรือคลิกดูบริการเพิ่มเติมที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง