Categories
Uncategorized

นอนกระตุก​ เหมือนตกเหว​ อันตรายไหม​ สาเหตุและวิธีแก้แบบตรงจุด

    /    บทความ    /    นอนกระตุก​ เหมือนตกเหว​ อันตรายไหม​ สาเหตุและวิธีแก้แบบตรงจุด

นอนกระตุก​ เหมือนตกเหว​ อันตรายไหม​ สาเหตุและวิธีแก้แบบตรงจุด

นอนกระตุก​ เหมือนตกเหว​ อันตรายไหม​
สาเหตุและวิธีแก้แบบตรงจุด

อาการนอนกระตุกเหมือนตกเหว นอนแล้วสะดุ้งตื่นตอนกลางคืน​ เกิดจากอะไรกันแน่ นอนกระตุกบ่อยๆ อันตรายไหม และจะมีวิธีแก้อย่างไรบ้าง?

หลายคนคงเคยมีอาการนอนกระตุก (Hypnic Jerk) หรือความรู้สึกที่เหมือนตกจากที่สูงขณะนอนหลับจนสะดุ้งตื่น ซึ่งเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็วโดยอัตโนมัติขณะนอนหลับ และจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับอาการสะอึก อาการประหลาดนี้เกิดจากอะไรกันแน่ นอนกระตุกบ่อยๆ เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพหรือเปล่า บทความนี้คุณหมอพรีโมแคร์มีคำตอบ

อาการนอนกระตุกเป็นอย่างไร?

อาการนอนกระตุก นอนแล้วสะดุ้งตื่นเพราะรู้สึกเหมือนตกจากเหวหรือที่สูงมักเกิดขึ้นกับร่างกายข้างใดข้างหนึ่ง เช่น แขนซ้าย หรือขาซ้าย โดยอาจเป็นการกระตุกเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้งติดต่อกัน ก่อนที่กล้ามเนื้อจะผ่อนคลายลงจนค่อยๆ หายกระตุกไปเอง 

ในระหว่างที่มีการกระตุก เรามักจะมีความรู้สึกอื่นๆ หรือมองเห็นภาพในสมองไปพร้อมกัน เช่น การฝัน หรือความรู้สึกถึงสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง มึหลายคนที่กล่าวตรงกันว่ารู้สึกเหมือนตกจากเหว เห็นแสงสว่างวาบ บางคนได้ยินเสียงทุบ เสียงของแตก หรือเสียงดังฉับพลัน 

ปกติการนอนกระตุกจะไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ แต่ก็มีบางคนที่รู้สึกเจ็บหรือมีอาการชาคล้ายโดนของแหลมทิ่ม ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดขึ้นเบามาก เราอาจไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่านอนกระตุก​ แต่หากอาการกระตุกแรงมากพอ เราก็จะรู้สึกเหมือนตกจากที่สูงและสะดุ้งตื่นขึ้นมา

อาการนอนกระตุก เกิดจากอะไร?

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกระตุกนั้นยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด แต่มีทฤษฎีที่เชื่อว่าอาการกระตุกระหว่างนอน และอาการกระตุกชนิดอื่นที่คล้ายกันอย่างการสะอึกนั้นเกิดจากสมองส่วนเดียวกับที่ทำหน้าที่ควบคุมปฏิกิริยาสะท้อนกลับของร่างกาย 

จากการศึกษากลไกของอาการกระตุกขณะนอนหลับ นักวิจัยคาดว่าสาเหตุอาจมาจากการปล่อยสารสื่อประสาทที่ผิดพลาดของเส้นประสาทที่อยู่ในก้านสมองเรติคิวลาร์ โดยเกิดขึ้นในระหว่างที่กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวอย่างเต็มที่ แต่สมองดันเข้าใจไปเองว่าเรากำลังตกจากลงมาจากพื้นต่างระดับหรือที่สูงจริงๆ จึงสั่งการให้กล้ามเนื้อหดตัวและกระตุกขึ้น 

ส่วนอีกข้อสันนิษฐานที่เป็นไปได้เช่นกันคือเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อความฝันที่เรามักเห็นขณะมีอาการกระตุกนั่นเอง

ปัจจัยกระตุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ถ้าไม่อยากนอนกระตุก

อาการนอนกระตุกเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย และไม่ได้บ่งบอกถึงภาวะสุขภาพที่ดีหรือไม่ดี โดยส่วนมากจะพบได้ในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งอาจเพราะเป็นช่วงอายุที่มีปัจจัยกระตุ้นมากขึ้น เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือการเผชิญกับความเครียด เป็นต้น 

หากมีปัญหานอนกระตุกที่มาขัดจังหวะการนอนบ่อยๆ คุณหมอพรีโมแคร์แนะนำให้ลองเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้ 

งดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 

คาเฟอีนเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้กล้ามเนื้อเกิดการกระตุก ทั้งยังมีฤทธิ์ทำให้สมองตื่นตัว โดยสามารถค้างอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานานจนส่งผลต่อวงจรการนอนหลับ ดังการศึกษาหนึ่งที่ให้ผู้เข้าร่วมหยุดดื่มกาแฟเป็นเวลา 6 ชั่วโมงก่อนนอน พบว่าคาเฟอีนที่ตกค้างยังคงมีผลทำให้นอนไม่หลับหรือนอนไม่เต็มอิ่มอยู่ ดังนั้นทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงการได้รับคาเฟอีนในช่วงเย็นหรือใกล้เวลานอนมากเกินไป 

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายมีระยะการนอนหลับที่ไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่านอนหลับไม่ลึก หลับไม่สนิท ผลที่ตามมาก็คือการรับรู้ถึงการกระตุกหรือการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะนอนหลับมากขึ้น และพลอยให้สะดุ้งตื่นง่ายขึ้นไปด้วย นอกจากนี้ภาวะถอนแอลกอฮอล์ที่มักเกิดขึ้นเมื่อพยายามเลิกดื่มก็กระตุ้นให้กล้ามเนื้อตอบสนองด้วยการกระตุกได้เช่นกัน 

การออกกำลังกายที่ใช้พลังมากเกินไปในช่วงเย็น

การออกกำลังกายมีประโยชน์ในการช่วยให้รู้สึกเพลียและนอนหลับได้ดีขึ้น แต่การออกกำลังกายที่ใช้พลังงานมากหรือกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นตัวอาจส่งผลตรงกันข้าม เพราะแทนที่จะทำให้รู้สึกเหนื่อย กลับอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่อาการนอนกระตุกในคืนนั้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังในช่วงเย็นหรือหัวค่ำที่ใกล้กับเวลาเข้านอน

ภาวะอดนอน (Sleep Deprivation)  

การอดนอนหรือนอนไม่เต็มอิ่มที่เกิดจากโรคนอนไม่หลับหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ เช่น โรคภูมิแพ้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่เพียงแต่ส่งผลให้หงุดหงิดง่ายหรือไม่มีสมาธิ แต่ยังเป็นอีกหนึ่งตัวการที่เพิ่มความเสี่ยงให้มีอาการนอนกระตุกมากขึ้น

ความเครียดและความวิตกกังวล

เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอน ทำให้นอนหลับยาก หรือนอนหลับๆ ตื่นๆ เมื่อการนอนถูกขัดจังหวะ จึงเป็นเหตุให้อาการกระตุกถามหาได้ง่ายขึ้น ก่อนนอนจึงควรหากิจกรรมที่ช่วยคลายเครียด อาจฝึกหายใจเข้าออกช้าๆ รวมทั้งสร้างบรรยากาศในการนอนด้วยกลิ่นน้ำมันหอมระเหย และเสียงดนตรีที่ฟังแล้วรู้สึกผ่อนคลาย

นอนกระตุก อันตรายหรือไม่ ต้องรักษาไหม?

อาการนอนกระตุกอาจขัดจังหวะการนอนไปบ้างแต่ก็ไม่ได้เป็นอันตราย โดยถือเป็นกลไกปกติที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงรอยต่อระหว่างการตื่นและการนอนหลับ และจากสถิติพบว่ามีคนมากถึง 70% ที่เคยมีอาการนอนกระตุก ก็เหมือนกับอาการสะอึกที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวนั่นเอง 

อย่างไรก็ตาม อาการกระตุกที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพบางอย่างที่มีอาการคล้ายกันได้ เช่น ภาวะขากระตุกขณะนอนหลับ (Periodic limb movements) ซึ่งเป็นการหดและงอตัวของกล้ามเนื้อในขาส่วนล่างที่เกิดขึ้นได้ทั้งในขณะหลับและตื่น และภาวะขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome) ที่จะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาไต่บริเวณขา น่อง และเท้า โดยมีอาการรุนแรงขึ้นในช่วงเย็นถึงกลางคืนและอาจรบกวนการนอนได้

นอกจากนี้ อาการกระตุกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย อาจเป็นอาการของโรคลมชักหรือความผิดปกติทางระบบประสาท การได้รับบาดเจ็บของศีรษะหรือกระดูกสันหลัง หรือบ่งบอกถึงภาวะการทำงานของอวัยวะล้มเหลวในกรณีที่ร้ายแรงก็เป็นไปได้

หากกังวลว่าอาการนอนกระตุกที่เป็นอยู่อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ แต่เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่นๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและหาแนวทางรักษาตามสาเหตุต่อไปพรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ดูแลด้วยใจ ให้คุณมีสุขภาพดีในทุกด้าน สอบถามบริการหรือปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ดื่มน้ำวันละกี่ลิตร กี่แก้ว ถึงจะดีต่อสุขภาพ?

    /    บทความ    /    ดื่มน้ำวันละกี่ลิตร กี่แก้ว ถึงจะดีต่อสุขภาพ?

ดื่มน้ำวันละกี่ลิตร กี่แก้ว ถึงจะดีต่อสุขภาพ?

ดื่มน้ำวันละกี่ลิตร กี่แก้ว ถึงจะดีต่อสุขภาพ?

ดื่มน้ำวันละกี่ลิตรถึงจะดีต่อ​สุขภาพ​? คำนวนปริมาณน้ำดื่มง่ายๆ เฉพาะบุคคล เพราะปัจจัยบางอย่างอาจส่งผลให้ร่างกายต้องการน้ำมากขึ้น

บ่อยครั้งที่เรามักได้ยินว่าดื่มน้ำเยอะๆ ดีต่อสุขภาพ แต่เคยสงสัยไหมว่าที่จริงแล้วเราควรดื่มน้ำวันละกี่ลิตรกันแน่? แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแต่ละวันร่างกายสูญเสียน้ำไปเท่าไร จะต้องดื่มน้ำแค่ไหนถึงจะชดเชยได้เพียงพอ 

วันนี้คุณหมอพรีโมแคร์ ชวนมาคำนวนปริมาณน้ำที่ควรดื่มในแต่ละวันแบบเจาะลึกพฤติกรรมและภาวะสุขภาพ เพราะการดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว หรือ 2-3 ลิตร อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จที่ดีที่สุดเสมอไป 

ประโยชน์ของการดื่มน้ำ

ร่างกายของคนเรามีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 50-70% ของน้ำหนักตัว การดื่มน้ำให้เพียงพอจึงจำเป็นต่อการรักษาสมดุลการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายให้เป็นไปอย่างคล่องตัว 

  • ช่วยลำเลียงสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย
  • ช่วยขับของเสียและกำจัดแบคทีเรียออกจากกระเพาะปัสสาวะ
  • ช่วยในการย่อยอาหาร
  • ป้องกันอาการท้องผูก
  • ปรับระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ
  • คงอัตราการเต้นของหัวใจที่สม่ำเสมอ
  • ช่วยหล่อลื่นข้อต่อ รองรับน้ำหนัก และลดการกระแทกของข้อต่อ
  • ช่วยปกป้องอวัยวะและเนื้อเยื่อที่บอบบาง
  • ปรับสมดุลของอุณหภูมิร่างกาย
  • รักษาสมดุลระดับเกลือแร่ในเลือด

การดื่มน้ำไม่เพียงพออาจนำไปสู่ภาวะขาดน้ำ ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการทำงานของร่างกายทั้งหมดนี้ โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย ความดันโลหิตต่ำ สับสนมึนงง วิงเวียนศีรษะ และสังเกตได้ว่าปัสสาวะออกมาเป็นสีเข้ม

ดื่มน้ำวันละกี่ลิตร ถึงจะดี? ต้องดื่ม 8 แก้วจริงไหม?

ในแต่ละวันร่างกายสูญเสียน้ำไปกับการหายใจ การเสียเหงื่อ รวมถึงการปัสสาวะและขับถ่าย เราจึงจำเป็นต้องชดเชยน้ำส่วนที่เสียไปนี้ด้วยการดื่ม​น้ำ​และบริโภคอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ 

คำแนะนำในการดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8 แก้ว หรือประมาณ 2 ลิตรนั้น เป็นสูตรมาตรฐานอย่างง่ายที่ทุกคนสามารถทำตามได้จริง แต่หากต้องการทราบปริมาณที่แม่นยำมากขึ้นก็สามารถคำนวนคร่าวๆ โดยพิจารณาตามภาวะสุขภาพ กิจกรรมที่ทำ และสภาพอากาศร่วมด้วย

กิจกรรมที่ทำ

การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำจากการขับเหงื่อ​ และเป็นตัวแปรสำคัญ​ที่ทำให้เราต้องการน้ำมากขึ้น โดยควรดื่มน้ำเพิ่มอีกประมาณ​ 350 มิลลิเมตร​ สำหรับการออกกำ​ลัง​กาย​ 30 นาที​ เช่น​ หากออกกำลังกาย​ 45 นาที​ ก็ควรดื่มน้ำเพิ่มประมาณ​ 530 มิลลิลิตร (350+175)​ รวมทั้งหมด 2.5 ลิตร จากปริมาณปกติที่แนะนำให้ดื่มวันละ 2 ลิตร​ นอกจากนี้ คนที่ทำงานกลางแจ้งหรืออยู่​ในห้องที่มีอุณหภูมิ​สูง​ที่ทำให้เกิดการเสียเหงื่อมาก​ ก็ควรดื่มน้ำทดแทนให้มากขึ้นเช่นกัน

อาหารที่รับประทาน

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน​ เช่น​ กาแฟ​ และชา​ อาจทำให้ร่างกายสูญเสีย​น้ำเนื่องจากปัสสาวะบ่อยขึ้น​ รวมถึงอาหารรสเค็ม​หรือเผ็ดจัด​ และอาหารที่มีน้ำตาลสูง​ การดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปจึงอาจจำเป็น​ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออาหารที่รับประทานนั้นมีน้ำเป็นส่วนประกอบค่อนข้างน้อยอยู่​แล้ว

ภาวะสุขภาพ​

อาการเจ็บป่วยบางอย่างสามารถส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำหรือต้องการน้ำมากขึ้น​ เช่น​ ภาวะติดเชื้อ​ มีไข้​ ท้องเสีย​ อาเจียน​ กระเพาะ​ปัสสาวะ​อักเสบ รวมไปถึงโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน​ และการใช้ยาที่มีฤทธิ์ขับ​ปัสสาวะ ซึ่งก็อธิบายได้ว่าทำไมเมื่อมีภาวะเจ็บป่วยเหล่านี้ เราจึงมักได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ดื่ม​น้ำเยอะๆ นั่นเอง

การตั้งครรภ์​และให้นมบุตร

ร่างกายของคุณแม่​ในระหว่างที่ตั้งครรภ์จะต้องการน้ำมากกว่าปกติ เพื่อช่วยในการสร้างพัฒนาการที่สมบูรณ์ของตัวอ่อน โดยควรดื่ม​น้ำอย่างน้อยวันละ​ 8-12 แก้ว​ (1 แก้ว = 240 มล.) หรือ 1.9-2.8 ลิตร​ ขึ้น​อยู่​กับ​น้ำ​หนัก​ตัว​ เช่นเดียวกับคุณ​แม่ที่ให้นมลูกที่ควรเพิ่มเป็นประมาณ​วันละ​ 12 แก้ว​ หรือ​ 2.8 ลิตร

เคล็ดลับ​ดื่มน้ำให้พอสำห​รับ​คนไม่ชอบดื่มน้ำ

คนที่มีปัญหา​ดื่มน้ำน้อยอาจเกิดจากความไม่ชอบดื่มน้ำด้วยส่วนหนึ่ง​ ​ซึ่งก็สามารถทดแทนง่ายๆ​ ด้วยการรับประทานผักและผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ​มากกว่า​ 90% เช่น​ แตงโม​ แตงกวา​ มะเขือเทศ​ ​สตรอ​วเบอร์​รี่​ แคนตาลูป​ ส้ม​ ผักกาดหอม​ กะหล่ำปลี​ กะหล่ำดอก​ รวมไปถึงอาหารและเครื่องดื่มชนิดอื่นๆ​ เช่น​ อาหารที่มีน้ำซุป​ นม​ ชาสมุนไพร​ น้ำผลไม้​ ชานม​ กาแฟ​ น้ำอัดลม​ แต่เพื่อสุขภาพที่ดี ต้องอย่าลืมจำกัดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและแคลอรี่สูงแต่น้อยด้วย

สำรวจตัวเอง ดื่มน้ำพอแล้วหรือยัง?

วิธีสังเกตว่าตัวเองดื่มน้ำเพียงพอแล้วหรือไม่ ในเบื้องต้นสามารถดูจากการที่แทบจะไม่​รู้​สึกกระหายน้ำและปัสสาวะไม่มีสีหรือเป็นสีเหลืองอ่อน​

หากคิดว่ายังดื่มน้ำไม่พอ​ อาจกระตุ้นตัวเองให้ดื่มน้ำมากขึ้นโดยพกกระติกน้ำติดตัวไว้ตลอด เขียนโน้ตหรือตั้งการแจ้งเตือนให้ดื่มน้ำ​ และควรดื่มน้ำ 1 แก้ว​ เมื่อรับประทานอาหารและระหว่างมื้ออาหารจนเป็นกิจวัตร รวมทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย​ และดื่มทันทีเมื่อรู้สึกกระหาย​ เพียงเท่านี้​ก็​ไม่ต้องกังวลว่าร่างกายจะขาดน้ำ แถมยังช่วยปรับสมดุลการทำงานของระบบต่างๆ ให้เต็มร้อยอีกด้วย

ใครที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองควรดื่มน้ำกี่ลิตรต่อวันกันแน่​ หรือมีภาวะสุขภาพอื่นๆ​ เช่น​ ไทรอยด์​ โรคตับ​ โรคไต​ โรคหัวใจ ที่ส่งผลต่อปริมาณน้ำที่ควรได้รับ​และอาจต้​องประเมินตามอาการและการรักษาโรค​​ แวะมาปรึกษา​ทีมแพทย์​และนักโภชนาการ​พรีโมแคร์ได้เลยที่​ LINE @primoCare 

พรีโมแคร์​ ​เมดิคอล​ ​คลินิก​ เปิดทำการทุกวันจันทร์ ​- ศุกร์​ เวลา​ 8.00 -​ 18.00 น. ​
คลิกดูบริการเบื้องต้นของเราที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง