Categories
Uncategorized

ข้อปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

    /    บทความ    /    ข้อปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

เตรียมพร้อมกับข้อปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

เตรียมพร้อมกับข้อปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

รับวัคซีนอย่างมั่นใจ กับข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนฉีด ระหว่างฉีด หลังฉีด ควรทำ-ห้ามทำอะไร

วัคซีนโควิด-19 ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของตัวเราเองและคนรอบข้าง ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เราทุกคนสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ สำหรับใครที่กำลังจะได้รับวัคซีนเร็วๆ นี้ แต่ยังไม่แน่ใจว่ามีข้อปฏิบัติก่อนและหลังฉีดวัคซีนอย่างไรบ้าง บทความนี้คุณหมอพรีโมแคร์ มีคำแนะนำสำหรับทุกขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางให้คุณเตรียมพร้อมได้อย่างมั่นใจ

การเตรียมตัวก่อนนัดหมายฉีดวัคซีนโควิด-19

บุคคลต่อไปนี้ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนนัดหมายรับวัคซีน

  • มีโรคประจำตัว หรือมียารักษาโรคที่ต้องรับประทานเป็นประจำ
  • เคยมีอาการแพ้อย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นยา อาหาร หรือวัคซีนชนิดอื่นๆ
  • กำลังตั้งครรภ์

ในกรณีที่ต้องรับวัคซีนชนิดอื่นๆ ในช่วงเดียวกับวัคซีนโควิด-19 สามารถทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องเว้นระยะห่างระหว่างวัคซีนทั้ง 2 ชนิดอีกต่อไป ตามคำแนะนำอย่างเป็นทางการจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลยืนยันความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 มากเพียงพอแล้ว 

ข้อปฏิบัติก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19

  • พักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ 
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนและหลังฉีดวัคซีน
  • ไม่จำเป็นต้องงดชาและกาแฟหากดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ควรเลี่ยงหากปกติไม่ค่อยดื่ม เพราะสารคาเฟอีนในชาและกาแฟอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วและมีความดันโลหิตสูงขึ้น
  • สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ แต่ไม่ควรหักโหมทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไป
  • ผู้ที่กำลังคุมกำเนิด ไม่จำเป็นต้องหยุดยา ไม่ว่าจะคุมกำเนิดด้วยการกิน ฉีด หรือฝังยาคุมก็ตาม
  • ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการฉีดวัคซีนล่วงหน้า เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน นาพร็อกเซน แอสไพริน เว้นแต่กรณีที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หรือต้องรับประทานเป็นประจำอยู่แล้ว

ควรเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ออกไปก่อนในกรณีต่อไปนี้

  • รู้สึกไม่สบาย มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือมีอาการอื่นๆ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 
  • อยู่ในระหว่างรอผลตรวจโควิด-19 
  • ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 และอยู่ในระหว่างการรักษาแบบ Home Isolation
  • อยู่ในช่วงกักตัวหลังจากเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือสัมผัส/ใกล้ชิดผู้ที่ติดเชื้อ
  • ไม่ควรฉีดวัคซีน หากมีประวัติแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนชนิดนั้นๆ อย่างรุนแรง หรือมีอาการแพ้รุนแรงหลังจากฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว ควรปรึกษาแพทย์หรือเจ้าหน้าที่เพื่อเปลี่ยนไปรับวัคซีนยี่ห้ออื่นแทน

ขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิด-19

  • เตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม เช่น บัตรประจำตัวประชาชน ข้อมูลยืนยันการลงทะเบียนนัดรับวัคซีน และบัตรประวัติสุขภาพ บัตรประวัติการแพ้ยา (ถ้ามี)
  • ก่อนฉีดวัคซีน สามารถรับประทานอาหารและรับประทานยารักษาโรคได้ตามปกติ หากแพทย์ประจำตัวไม่ได้แนะนำให้หยุดยา
  • แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบหากมีโรคประจำตัว หรือเคยมีประวัติแพ้วัคซีนโควิด-19 หรือวัคซีนอื่นๆ อย่างรุนแรงมาก่อน
  • แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบหากใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด
  • การฉีดวัคซีนจะฉีดบริเวณต้นแขน โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที หากรู้สึกประหม่าหรือกังวลให้ค่อยๆ หายใจเข้าออกลึกๆ อย่ามองไปที่เข็ม และพยายามไม่เกร็งแขนขณะฉีดวัคซีน
  • สวมใส่เสื้อผ้าแขนสั้นหรือเสื้อที่สามารถเปิดไหล่เพื่อรับการฉีดวัคซีนได้สะดวก
  • สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ว่าอยากให้ฉีดข้างซ้ายหรือขวา โดยควรฉีดแขนข้างที่ไม่ถนัด เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวันน้อยที่สุด
  • ควรสวมหน้ากากให้ถูกวิธีตลอดเวลาที่รับวัคซีน และควรหันหน้าไปในทางตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่ที่ฉีดวัคซีนให้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวผู้รับวัคซีนและผู้ฉีดวัคซีน

ระหว่างรอดูอาการหลังฉีดวัคซีน

  • ควรนั่งรอดูอาการเป็นเวลา 30 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ หากมีอาการรุนแรง เช่น คัน วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน หายใจมีเสียงดังหวีด หายใจติดขัด หายใจถี่ หัวใจเต้นเร็ว มีอาการบวมตามหน้า ริมฝีปาก ตา ชาบริเวณใบหน้า ชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที
  • หากใน 30 นาทีไม่มีอาการ สามารถกลับบ้านได้ และควรตรวจสอบวันและเวลานัดหมายสำหรับการรับวัคซีนเข็มที่ 2 ให้แน่ใจ หากไม่สะดวกในวันและเวลาดังกล่าว อาจแจ้งหรือสอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อเลื่อนนัด
  • สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือฉีดครบโดสแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือบางแห่งอาจให้ในรูปแบบคิวอาร์โค้ดในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่จองรับวัคซีน 

ข้อปฏิบัติหลังฉีดวัคซีนโควิด-19

  • การฉีดวัคซีนมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย เช่น ปวด แดง หรือบวมบริเวณที่ฉีด มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ เป็นต้น อาการเหล่านี้จะหายไปเองใน 1-2 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการรุนแรงกว่าเดิม หรือมีอาการนานกว่า 1 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  • หากปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน สามารถประคบเย็นบริเวณดังกล่าวเพื่อบรรเทาอาการ 
  • หากรู้สึกปวดแขน หรือปวดศีรษะมาก สามารถรับประทานยาพาราเซตามอล โดยรับประทานตามปริมาณที่ระบุบนฉลากการใช้ยา
  • ดื่มน้ำและนอนพักผ่อนให้เพียงพอในช่วง 1-2 วันแรก
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 24 ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน
  • สามารถเคลื่อนไหวหรือใช้งานแขนข้างที่ฉีดวัคซีนได้ แต่ควรงดการเกร็งแขน
  • ทำกิจวัตรต่างๆ ได้ตามปกติ แต่ไม่ควรหักโหมทำงานหรือออกกำลังกายหนักเกินไป และควรพักผ่อนหากมีไข้

ฉีดวัคซีนแล้วยังต้องสวมหน้ากากอนามัยอยู่ไหม?

เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% อีกทั้งปัจจุบันจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมประชากรส่วนมาก และไม่มากพอที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ทำให้แม้จะฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม หรือครบโดสแล้ว ก็ยังมีโอกาสสูงในการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือผู้ที่รับวัคซีนครบแล้วอาจติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ส่งผลให้เสี่ยงแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยไม่รู้ตัว 

ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคต่อไป คือ สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธี โดยเฉพาะในพื้นที่แออัดหรือมีการระบายอากาศไม่ดี ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอจาม และหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกันในพื้นที่ปิดหรือมีอากาศถ่ายเทไม่สะดวก 

นอกจากนี้ในช่วงหลังฉีดวัคซีน ร่างกายจะต้องใช้เวลา 2-4 สัปดาห์จึงจะเกิดภูมิคุ้มกันเต็มที่ หากละเลยการป้องกันตัวเองในช่วงนี้อาจยิ่งเสี่ยงติดเชื้อมากขึ้น และเสี่ยงมีอาการรุนแรง เนื่องจากยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนมากพอนั่นเอง

หากมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน ข้อปฏิบัติตัวก่อนและหลังฉีดวัคซีน หรือทุกเรื่องสุขภาพที่สงสัย ปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ได้เลยที่ Line @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Antibody Test ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 กับเรื่องที่ควรรู้

    /    บทความ    /    Antibody Test ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 กับเรื่องที่ควรรู้

Antibody Test ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 กับเรื่องที่ควรรู้

Antibody Test
ตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 กับเรื่องที่ควรรู้

ตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการตรวจภูมิโควิดด้วย Antibody test ต้องทำยังไง? ตรวจตอนไหนดีที่สุด? เช็กราคาค่าตรวจที่นี่ได้เลย

หลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโดสแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อเพียงพอหรือไม่ และต้องการพิสูจน์ด้วยการตรวจภูมิคุ้มกันโควิด-19 หรือ Covid-19 Antibody Test แต่ก่อนอื่นคุณหมอพรีโมแคร์อยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับการตรวจแอนติบอดีให้มากขึ้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะการมีแอนติบอดีนั้นอาจไม่ได้หมายถึงการมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 เสมอไป 

ปัจจุบัน Antibody Test ยังคงแนะนำให้ใช้สำหรับตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 ในอดีตเป็นหลักเท่านั้น ฉะนั้นใครที่ต้องการใช้เพื่อตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ในเบื้องต้น จำเป็นที่จะต้องทราบถึงข้อจำกัดของการตรวจ การตีความผล และช่วงเวลาการตรวจที่เหมาะสม ทั้งนี้ก็เพื่อความแม่นยำของผลลัพธ์และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและปลอดภัยหลังทราบผล

Antibody Test คืออะไร? ทำงานอย่างไร?

Antibody Test หรือ Serology Test เป็นวิธีการตรวจปริมาณแอนติบอดีในเลือด ซึ่งเป็นโปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นเพื่อช่วยต่อสู้กับการติดเชื้อ รวมทั้งอาจช่วยป้องกันการติดเชื้อซ้ำในอนาคต โดยแอนติบอดีในร่างกายเรานั้นเกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อโรคเมื่อเกิดการติดเชื้อ หรือหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนั่นเอง

Antibody test สามารถตรวจวัดแอนติบอดีชนิดต่างๆ เช่น อิมมูโนโกลบูลิน จี (IgG) อิมมูโนโกลบูลิน เอ็ม (IgM) และอิมมูโนโกลบูลิน เอ (IgA) ซึ่งแอนติบอดีเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นหลังจากการติดเชื้อในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

การตรวจแอนติบอดีสามารถวัดอิมมูโนโกลบูลินได้ทุกประเภท แต่การตรวจแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 มักจะเน้นไปที่ IgG เนื่องจากเป็นแอนติบอดีชนิดที่ใช้เวลาสร้างหลายสัปดาห์ และคงอยู่เป็นเวลาหลายเดือน จึงถือเป็นตัวบ่งชี้การติดเชื้อที่น่าเชื่อถือมากที่สุด

ปริมาณแอนติบอดีบ่งบอกถึงภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ได้หรือไม่?

ตามแนวทางปฏิบัติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) ขณะนี้ยังไม่แนะนำให้ใช้ Antibody Test สำหรับตรวจภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 หรือตรวจการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน เนื่องจากยังไม่อาจยืนยันได้ว่าการมีแอนติบอดีนั้นเท่ากับมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19

การยึดผลตรวจ Antibody Test เพื่อวัดระดับภูมิคุ้มกัน มีความสุ่มเสี่ยงในกรณีที่อาจส่งผลให้ผู้รับการตรวจเข้าใจไปว่าตนเองมีภูมิคุ้มกัน จนขาดความระมัดระวังในการป้องกันตนเอง ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพร่กระจายของโรคมากยิ่งขึ้น

Antibody Test เหมาะกับใครบ้าง?

Antibody Test สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในอดีตได้ จึงแนะนำให้ใช้กับผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 เป็นหลัก รวมถึงการตรวจวัดปริมาณแอนติบอดีที่สร้างขึ้นหลังจากได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั้งนี้ Antibody Test ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าปัจจุบันมีการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ หากต้องการตรวจหาเชื้อต้องใช้วิธี RT-PCR หรือชุดตรวจ Rapid Antigen Test เท่านั้น

นอกจากนี้ ในบางประเทศก็มีการนำผล Antibody Test มาใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัย เพื่อช่วยคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด รวมถึงประเมินความเสี่ยงในการติดเชื้อซ้ำในอนาคต ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้รู้จักโรคโควิด-19 มากขึ้น และนำไปสู่แนวทางการรับมือที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Covid-19 Antibody Test ตรวจเมื่อไรดีที่สุด?

ดังนั้นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการตรวจ คือ 14-21 วันหลังจากเริ่มรู้สึกไม่สบาย และไม่ควรตรวจเร็วกว่านี้ เนื่องจากร่างกายของเราต้องใช้เวลาในการสร้างแอนติบอดี IgG โดยงานวิจัยพบว่า 90% ของคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19 จะผลิต IgG ขึ้นในช่วง 14 วันหลังจากเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แต่ระดับแอนติบอดีที่ตรวจพบได้ในเลือดจะอยู่นานเท่าไรนั้นก็ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

ขั้นตอนการตรวจ 

ในการตรวจแอนติบอดีจะมีการเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยอาจใช้วิธีเจาะเลือดจากเส้นเลือดใหญ่บริเวณข้อพับหรือเจาะเลือดบริเวณปลายนิ้วก็ได้ 

ผู้ที่รับการตรวจแอนติบอดีไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ ล่วงหน้า แต่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหรือได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว 

ในกรณีที่ใช้ชุดเก็บตัวอย่างเองที่บ้าน ควรทำตามคำแนะนำในการใช้งานอย่างระมัดระวัง และเก็บตัวอย่างเลือดในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาดเสมอ

ผลตรวจ Antibody Test บอกอะไรได้บ้าง?

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) กำหนดแนวทางการแปลผลลัพธ์ของ Antibody Test ไว้ดังนี้

ผลบวก หรือตรวจพบปริมาณแอนติบอดี อาจหมายถึงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  1. มีแอนติบอดีจากการเคยติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนโควิด-19 แต่ไม่ได้ยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19
  2. มีแอนติบอดีบางชนิดที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทางวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน แต่จากรายงานส่วนใหญ่พบว่าการติดเชื้อซ้ำอีกครั้งหรือการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก และวัคซีนสามารถช่วยให้ร่างกายผลิตแอนติบอดีเหล่านี้ได้มากกว่าแอนติบอดีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการติดเชื้อ 
  3. บางรายอาจตรวจพบแอนติบอดีแม้ไม่เคยมีอาการของโควิด-19 และไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เนื่องจากเป็นการติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ
  4. ไม่มีแอนติบอดี แต่ผลตรวจคลาดเคลื่อนจากลบเป็นบวก

ผลลบ หรือตรวจไม่พบปริมาณแอนติบอดี อาจหมายถึงข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้

  1. ไม่มีแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด-19 เนื่องจากไม่เคยติดเชื้อมาก่อน หรือยังไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19
  2. การตรวจบางชนิดสามารถวัดปริมาณแอนติบอดีจากการติดเชื้อได้เท่านั้น ไม่สามารถวัดแอนติบอดีที่เกิดจากการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งอาจทำให้พบผลลบแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ก่อนตรวจควรสอบถามแพทย์ให้แน่ใจทุกครั้ง
  3. กำลังติดเชื้อ เพิ่งหายจากการติดเชื้อ หรือเพิ่งได้รับวัคซีนเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งอาจทำให้ตรวจไม่พบ เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาในการสร้างแอนติบอดี 1-3 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อหรือหลังรับวัคซีน ทั้งนี้บางคนอาจใช้เวลาในการสร้างแอนติบอดีนาน หรืออาจไม่มีการสร้างแอนติบอดีขึ้นมาแม้จะเคยติดเชื้อหรือได้รับวัคซีนมาแล้วก็ตาม แต่กรณีหลังนี้เกิดขึ้นได้น้อยมาก
  4. มีแอนติบอดี แต่ผลลัพธ์คลาดเคลื่อนจากบวกกลายเป็นลบ

ข้อปฏิบัติตัวหลังตรวจ COVID-19 Antibody Test

ไม่ว่าจะตรวจแอนติบอดีด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ต้องอย่าลืมว่า Antibody Test มีไว้สำหรับตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้านี้เป็นหลัก และยังคงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมจนกว่าจะทราบแน่ชัดว่าผลที่ตรวจพบและไม่พบนั้นบ่งบอกอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบแล้ว ยังได้รับไม่ครบโดส หรือเคยติดโควิด-19 มาก่อนเองก็ตาม

  • คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ผลแอนติบอดีที่เป็นบวกอาจหมายถึงเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน แต่ควรตะหนักว่าไม่ได้หมายความว่าจะมีภูมิคุ้มกันหรือไม่ติดเชื้อซ้ำอีกครั้ง 
  • คนที่ได้รับวัคซีนแล้ว อาจหมายถึงเคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน หรือเกิดจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 แต่ไม่ใช่ทุกการตรวจที่จะวัดระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ หากต้องการตรวจภูมิคุ้มกันจากวัคซีนควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อรับคำแนะนำการตรวจที่เหมาะสม และอย่าลืมว่าผลบวกไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีภูมิคุ้มกันหรือป้องกันจากการติดเชื้อ

ดังนั้น ไม่ว่าผลตรวจจะเป็นบวกหรือลบ ตรวจพบแอนติบอดีในปริมาณมากหรือน้อย ก็ยังคงต้องระมัดระวังในการป้องกันตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ควรเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด ล้างมือเป็นประจำ และควรรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไว้เป็นดีที่สุด

ตรวจแอนติบอดี 2 ครั้ง ผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน ทำอย่างไร?

ผลการตรวจแต่ละครั้งอาจมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความแม่นยำของการตรวจที่ใช้ หรือระยะเวลาในการสร้างแอนติบอดีของร่างกายหลังจากติดเชื้อหรือได้รับวัคซีน ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการตีความผลตรวจเสมอ

ใช้ชุดตรวจ Antibody Test ที่บ้านได้หรือไม่?

ปัจจุบันทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่อนุญาตให้จำหน่ายหรือซื้อชุดตรวจ Antibody Test แบบตรวจเองที่บ้าน การตรวจที่ได้มาตรฐานจะต้องเป็นการตรวจที่เก็บตัวอย่างเลือดและส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการเท่านั้น

ตรวจ Covid-19 Antibody Test ราคาเท่าไร?

ค่าใช้จ่ายของ Antibody Test อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานพยาบาล ขึ้นอยู่กับชนิดของการตรวจและเทคโนโยลีที่ใช้ในการวิเคราะห์ตัวอย่าง โดยจะมีค่าเก็บตัวอย่างเลือด ค่าวิเคราะห์ผล และค่าบริการทางการแพทย์

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีบริการ Antibody Test เริ่มต้นเพียง 1,100 บาท 

  • ตรวจแบบ Elisa (Enzyme-linked Immunosorbent Assay) การตรวจเชิงปริมาณเพื่อวิเคราะห์จำนวนเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่มีความสำคัญต่อการทำลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
    ราคา 1,100 บาท รวมค่าบริการทางการแพทย์แล้ว
  • ตรวจแบบ NT (Neutralizing Test) การตรวจเชิงคุณภาพเพื่อวัดระดับแอนติบอดีในเลือดที่ตอบสนองต่อเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม
    ราคา 1,800 บาท รวมค่าบริการทางการแพทย์แล้ว

สนใจตรวจ Antibody Test วัดระดับภูมิคุ้มกันโควิด-19 กับพรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก สอบถามและนัดหมายออนไลน์ได้เลยที่ LINE @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง