/ บทความ / เทียบประสิทธิภาพ 8 วัคซีนโควิด-19 วัคซีนที่ดีที่สุดมีจริงไหม?
ในสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงขณะนี้ วัคซีนโควิด-19 คือความหวังในการเอาชนะวิกฤตและเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อให้เราทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตกันได้ตามปกติอีกครั้ง
ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2021 ไทยเราฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกไปแล้วในอัตราประมาณ 1 ใน 10 วันนี้ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เลยชวนคุณมารู้จักวัคซีนโควิด-19 แต่ละยี่ห้อ ในด้านประสิทธิภาพ ผลข้างเคียง และข้อมูลที่คุณควรรู้ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมและสร้างความมั่นใจก่อนรับวัคซีนโควิด-19
อัปเดตข้อมูลวัคซีนโควิด-19 ในไทย
ขณะนี้ในไทยมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตให้ใช้ทั้งหมด 6 ชนิด คือ
- วัคซีนของบริษัท Sinovac จากประเทศจีน
- วัคซีนของ AstraZeneca บริษัทสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ที่จับมือคิดค้นร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
- วัคซีนของบริษัท Johnson & Johnson จากสหรัฐอเมริกา
- วัคซีนของบริษัท Moderna จากสหรัฐอเมริกา
- วัคซีนของบริษัท Sinopharm จากประเทศจีน
- วัคซีนของบริษัท Pfizer ในสหรัฐอเมริกาที่คิดค้นร่วมกับบริษัทยาสัญชาติเยอรมันอย่างไบโอเอ็นเท็ค
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอื่นๆ อีกหลายยี่ห้อที่น่าจับตาหรืออาจมีการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนกับอย. ไทยเร็วๆ นี้ ได้แก่ วัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย วัคซีนของบริษัท Novavax จากสหรัฐอเมริกา และวัคซีนของบริษัทภารัต Bharat Biotech จากอินเดีย
ทำความรู้จักวัคซีน 8 บริษัทที่มีและคาดว่าอาจมีในไทย
การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นการคิดค้นวัคซีนที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์และมีวัคซีนมากกว่าร้อยชนิดที่อยู่ในขั้นตอนการคิดค้นทดลอง ซึ่งวัคซีนบริษัทดังที่มีในไทยแล้วและคาดว่าอาจมีในไทยที่ยกมาวันนี้มีด้วยกัน 8 บริษัท ดังนี้
AstraZeneca (แอสตราเซเนกา)
เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัสที่ใช้เชื้อไวรัสอะดีโนที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหวัดในลิงชิมแปนซีมาดัดแปลงพันธุกรรมให้มีโปรตีนจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) เป็นส่วนประกอบ เพื่อเข้าไปกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อสู้โรค
ผลการทดลองระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อประมาณ 76% สามารถป้องกันอาการรุนแรงและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 100%
ประสิทธิภาพต่อสายพันธ์ุ คาดว่าไม่ป้องกันสายพันธ์ุแอฟริกาใต้หรือ Beta เนื่องจากมีการทดลองที่พบว่าประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อลดเหลือ 10% แต่ยังช่วยลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ยังคงป้องกันสายพันธุ์อื่นๆ ในระดับใกล้เคียงสายพันธุ์เดิม รวมถึงสายพันธ์ุใหม่ในอินเดียอย่าง Delta และ Kappa
ข้อมูลการฉีด
- จำนวนโดส: 2 เข็ม ระยะห่างการฉีด 4-12 สัปดาห์
- ช่วงอายุ: 18 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา: อย่างน้อย 6 เดือนที่อุณหภูมิ 2-8°C หรือตู้เย็นปกติ
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: คัน ปวด หรือบวมบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หนาวสั่นเหมือนมีไข้ ปวดข้อต่อหรือกล้ามเนื้อ และอาการคล้ายหวัด
ในยุโรปมีรายงานว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca มีความสัมพันธ์กับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในกลุ่มคนอายุน้อย ซึ่งยังอยู่ในอัตราที่พบได้น้อย แต่ก็ทำให้หลายประเทศสั่งระงับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ไป และส่วนใหญ่กลับมาฉีดตามเดิมหลังจากองค์การอาหารและยาของสหภาพยุโรปมีข้อสรุปว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนมีมากกว่าความเสี่ยง ส่วนในประเทศอังกฤษนั้นมีคำแนะนำว่าผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีควรรับวัคซีนชนิดอื่นแทน
Sinovac (ซิโนแวค)
เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตายซึ่งเป็นวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม โดยเป็นการใช้เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ตายแล้วหรือทำให้อ่อนแอจนก่อให้เกิดโรคไม่ได้ ฉีดเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
ผลการทดลองระยะที่ 3 ในบราซิลพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 51% หลังจากได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งช่วยป้องกันอาการรุนแรงได้
ประสิทธิภาพต่อสายพันธ์ุ อาจไม่ป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) และจากการใช้ในเมืองหนึ่งของบราซิลที่มีการระบาดของสายพันธุ์บราซิล (Gamma) 3 ใน 4 พบมีประสิทธิภาพ 50% นอกจากนี้เป็นที่กังวลว่าอาจไม่ป้องกันสายพันธุ์อินเดีย (Delta) เนื่องจากบุคลากรการแพทย์ในอินโดนีเซียที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วติดเชื้อจำนวนมากจากสายพันธุ์นี้ ส่วนสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) มีประสิทธิภาพป้องกันได้ที่ 67%
ข้อมูลการฉีด
- จำนวนโดส: 2 เข็ม ระยะห่างการฉีด 2-4 สัปดาห์
- ช่วงอายุ: 18 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา: 3 ปี ที่อุณหภูมิ 2-8°C
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: ปวดหรือบวมบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ
มีรายงานการฉีดวัคซีนในบางประเทศ เช่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนบางราย มีอาการผิดปกติทางระบบประสาท ได้แก่ ชา แขนขาอ่อนแรง เวียนศีรษะ อาเจียน พูดไม่ชัด คล้ายอาการของโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงการเสียชีวิตที่อาจเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน Sinovac ซึ่งยังต้องมีการตรวจสอบเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนนั้นมีมากกว่าและยังคงแนะนำให้ฉีด
Pfizer (ไฟเซอร์)
เป็นวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่มีโครงสร้างโปรตีนเฉพาะตัว โดยจะเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีนขึ้นมาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรค
ผลการทดลองระยะที่ 3 ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน พบว่ามีประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อ 95% และจากการทดลองใช้จริงในประเทศอิสราเอลพบว่ามีประสิทธิภาพ 97% ในการป้องกันการติดเชื้อ ช่วยการลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต
ประสิทธิภาพต่อสายพันธ์ุ ยังคงป้องกันเชื้อได้ทุกสายพันธุ์ บางการทดลองพบมีประสิทธิภาพลดเหลือ 72-75% ต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) และป้องกันสายพันธุ์อินเดีย (Delta) ได้ 88%
ข้อมูลการฉีด
- จำนวนโดส: 2 เข็ม ระยะห่างการฉีด 3 สัปดาห์
- ช่วงอายุ: 12 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา: 6 เดือนที่อุณหภูมิ -70°C และ 5-31 วัน ที่อุณหภูมิ 2-8°C
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมีจำนวนน้อยที่พบผลข้างเคียงรุนแรงในระดับที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
Moderna (โมเดอร์นา)
เป็นวัคซีนชนิด mRNA เช่นเดียวกับ Pfizer ทำงานโดยอาศัยสารพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่มีโครงสร้างโปรตีนเฉพาะตัว โดยจะเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีนขึ้นมาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับเชื้อโรค
ผลการทดลองระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 94% ในผู้ที่ไม่เคยมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนหน้า และมีจำนวนน้อยมากที่ติดเชื้อแล้วมีอาการหนักจนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน ส่วนประสิทธิภาพในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 86%
ประสิทธิภาพต่อสายพันธ์ุ ยังคงป้องกันได้ทุกสายพันธ์ุ แต่สำหรับการป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) และบราซิล (Gamma) อาจต้องมีการฉีดกระตุ้น
ข้อมูลการฉีด
- จำนวนโดส: 2 เข็ม ระยะห่างการฉีด 4 สัปดาห์
- ช่วงอายุ: 18 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา: 6 เดือนที่อุณหภูมิ -20°C และ 1 เดือน ที่อุณหภูมิ 2-8°C
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน มีไข้ หนาวสั่น เหนื่อย ปวดศีรษะ และมีจำนวนน้อยที่พบผลข้างเคียงรุนแรงในระดับที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
Johnson & Johnson (จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน)
เป็นวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัสที่อาศัยไวรัสหวัดที่ชื่อว่าอะดีโนที่ถูกทำให้อ่อนแอจนไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ เป็นตัวส่งรหัสพันธุกรรมของไวรัสโรคโควิด-19 ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา
ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ 66% หลังรับวัคซีน 2 สัปดาห์ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อโควิค-19 มาก่อน และช่วยป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ 100%
ประสิทธิภาพต่อสายพันธ์ุ ป้องกันเชื้อสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ (Beta) ได้ 64% และป้องกันสายพันธุ์บราซิล (Gamma) 61% รวมถึงมีแนวโน้มป้องกันสายพันธุ์อื่นๆ ในระดับใกล้เคียงเดิม
ข้อมูลการฉีด
- จำนวนโดส: 1 เข็ม
- ช่วงอายุ: 18 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา: ไม่ต่ำว่า 3 เดือน ที่อุณหภูมิ 2-8°C
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมักพบในกลุ่มผู้มีอายุ 18-59 ปี มากกว่าผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
มีรายงานว่าวัคซีนของ Johnson & Johnson อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่พบได้น้อย โดยทางหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกาเตือนว่าหญิงที่มีอายุน้อยอาจมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการฉีดวัคซีนนี้
Sinopharm (ซิโนฟาร์ม)
เป็นวัคซีนเชื้อตายและมาจากประเทศจีนเช่นเดียวกับ Sinovac โดยใช้เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ตายแล้วหรือทำให้อ่อนแอจนก่อให้เกิดโรคไม่ได้ ฉีดเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน
ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการ 79% หลังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป และป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 79%
ประสิทธิภาพต่อสายพันธ์ุ ยังไม่มีข้อมูลการศึกษามากนัก การทดลองหนึ่งพบว่ามีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) ลดลง และทางการจีนกล่าวว่าอาจป้องกันสายพันธุ์อินเดีย (Delta) ได้น้อยลงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ
ข้อมูลการฉีด
- จำนวนโดส: 2 เข็ม ระยะห่างการฉีด 3-4 สัปดาห์
- ช่วงอายุ: 18 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา: 3 ปี ที่อุณหภูมิ 2-8°C
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: ปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
Spunik V (สปุตนิก วี)
เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเวกเตอร์ไวรัสเช่นเดียวกับ Johnson & Johnson แต่จะใช้เวกเตอร์ไวรัสอะดีโนที่เป็นตัวส่งรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรน่าใน 2 เข็มต่างชนิดกัน เนื่องจากหากใช้ไวรัสชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็มอาจทำให้ร่างกายเคยชินกับการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นต่อสู้ไวรัสเวกเตอร์ในเข็มที่ 2 แล้ว และอาจส่งผลให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดน้อยลงได้
ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ 92% ป้องกันอาการรุนแรงจากโรคได้ 100% และไม่พบการติดเชื้อที่มีอาการปานกลาง-รุนแรงในช่วง 21 วันหลังจากฉีดเข็มแรก
ประสิทธิภาพต่อสายพันธ์ุ ทางบริษัทผู้ผลิตกล่าวว่ายังคงมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อทุกสายพันธ์ุ แต่อาจป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) ได้ลดลง รวมทั้งสามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ุอินเดีย (Delta) ได้ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น แต่ข้อหลังนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการทดลองที่แน่ชัดออกมา
ข้อมูลการฉีด
- จำนวนโดส: 2 เข็ม ระยะห่างการฉีด 3 สัปดาห์
- ช่วงอายุ 18 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา: 2 เดือน ที่อุณหภูมิ 2-8°C
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: ปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีน อ่อนเพลีย มีไข้ต่ำ
Novavax (โนวาแว็กซ์)
เป็นวัคซีนที่ใช้โปรตีนบางส่วนของไวรัสโควิด-19 ร่วมกับสารกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองดียิ่งขึ้นและสร้างภูมิขึ้นมาต่อต้านไวรัส
ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อ 90% และป้องกันอาการระดับปานกลางถึงรุนแรงได้ 100%
ประสิทธิภาพต่อสายพันธ์ุ สามารถป้องกันสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) 93% แต่มีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) ลดลงเหลือ 51%
ข้อมูลการฉีด
- จำนวนโดส: 2 เข็ม ระยะห่างการฉีด 3 สัปดาห์
- ช่วงอายุ: 18 ปีขึ้นไป
- การเก็บรักษา: 6 เดือน ที่อุณหภูมิ 2-8°C
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย: ปวดบวมบริเวณที่ฉีด มีไข้ และบางรายมีต่อมน้ำเหลืองโต
เปรียบเทียบข้อมูลวัคซีนโควิด-19
วัคซีน | ชนิดวัคซีน | ประสิทธิภาพ | จำนวนโดส | อุณหภูมิ/ | ช่วงอายุที่ควรฉีด |
AstraZeneca | เวกเตอร์ไวรัส | 76% | 2 เข็ม | 2-8°C / 6 เดือน | 18 ปีขึ้นไป |
Sinovac | เชื้อตาย | 51% | 2 เข็ม | 2-8°C / 3 ปี | 18 ขึ้นไป |
Pfizer | mRNA | 95% | 2 เข็ม | -70°C / 6 เดือน | 12 ปีขึ้นไป |
Moderna | mRNA | 94% | 2 เข็ม | -20°C / 6 เดือน 2-8°C / 1 เดือน | 18 ปีขึ้นไป |
Johnson& | เวกเตอร์ไวรัส | 66% | 1 เข็ม | 2-8°C / 3 เดือน | 18 ปีขึ้นไป |
Sinopharm | เชื้อตาย | 79% | 2 เข็ม | 2-8°C / 3 ปี | 18 ปีขึ้นไป |
Sputnik V | เวกเตอร์ไวรัส | 92% | 2 เข็ม | 2-8°C / 2 เดือน | 18 ปีขึ้นไป |
Novavax | โปรตีนพื้นฐาน | 89% | 2 เข็ม | 2-8°C / 6 เดือน | 18 ปีขึ้นไป |
**หลังฉีดวัคซีนครบโดสแล้วยังต้องให้เวลาร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงจะเกิดการป้องกันอย่างเต็มที่ ระหว่างนี้ยังคงควรระมัดระวังตนเอง สวมใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมืออย่างเคร่งครัด
หมายเหตุ: ผลการทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ยังไม่ได้นำไปใช้ในสถานการณ์จริงในคนจำนวนที่มากพอ ซึ่งอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ซับซ้อนกว่าการทดลอง จึงยังคงต้องติดตามกันต่อไปในด้านของอาการข้างเคียงและความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพในการรับมือโรคโควิด-19 สายพันธ์ุต่างๆ ด้วย
ประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 บอกได้หรือไม่ยี่ห้อไหนดีที่สุด?
หลายคนสงสัยว่าวัคซีนที่ดีต้องมีประสิทธิภาพสูงแค่ไหน ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ชี้ว่าวัคซีนที่ผลิตขึ้นมาป้องกันโรคแต่ละโรคล้วนมีเกณฑ์ประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน โดยต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับ วัคซีนบางชนิดเป็นที่ยอมรับได้แม้มีประสิทธิภาพที่ต่ำ เนื่องจากโรคที่เกิดขึ้นมีความรุนแรงมาก การป้องกันแม้เพียงเล็กน้อยจึงย่อมดีกว่า เช่น วัคซีนโรคมาเลเรีย เป็นต้น
โรคโควิด-19 ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรง ปัจจุบันทางองค์การอนามัยโลกจึงได้ตั้งมาตรฐานของประสิทธิภาพของวัคซีนไว้ที่ 50% โดยหากวัคซีนมีประสิทธิภาพ 50% ก็ยังถือว่าควรฉีดป้องกันไว้ เพราะความเสี่ยงจากการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงนั้นมีมากกว่า และจากการฉีดวัคซีนที่ผ่านมาก็พบว่าวัคซีนโควิด-19 หลายชนิดค่อนข้างมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง
ส่วนการจะเปรียบเทียบว่าวัคซีนชนิดไหนดีที่สุดอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะการทดลองของแต่ละวัคซีนอาจมีรูปแบบและเกณฑ์การประเมินที่แตกต่างกัน เช่น บางการทดลองออกแบบให้วัดประสิทธิภาพตั้งแต่หลังจากฉีดทันที แต่บางการทดลองวัดหลังจากฉีด 2 สัปดาห์ เพื่อรอให้ภูมิคุ้มกันเริ่มทำงาน หรือบางการทดลองประเมินการติดเชื้อโดยให้ผู้ร่วมทดลองสังเกตอาการด้วยตนเอง แต่บางการทดลองตรวจการติดเชื้ออย่างละเอียดและมีผลยืนยัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพจากการทดลองของวัคซีนโควิด-19 แต่ละยี่ห้อต่างกันได้
พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ห่วงใยและพร้อมดูแลเบื้องต้นในทุกด้าน ให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน เจ็บป่วย หรือมีความกังวลใจเรื่องสุขภาพ นัดหมายกับคุณหมอของเราได้เลยที่ LINE @primoCare
- Coronavirus Vaccine Tracker. (https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html)
- Comparing the COVID-19 Vaccines: How Are They Different? (https://www.yalemedicine.org/news/covid-19-vaccine-comparison)
- Understanding How COVID-19 Vaccines Work. (https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/different-vaccines/how-they-work.html)
- What is COVID-19 vaccine efficacy? (https://www.afro.who.int/news/what-covid-19-vaccine-efficacy)
- Image: Medical photo created by freepik – www.freepik.com