Categories
Uncategorized

Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่ ยับยั้งโควิด-19 ได้จริงไหม?

    /    บทความ    /    Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่ ยับยั้งโควิด-19 ได้จริงไหม?

Herd Immunity ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ ความหวังในการควบคุมโควิด-19

Herd Immunity ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’
ความหวังในการควบคุมโควิด-19

Herd Immunity ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19​ คืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร มีความเป็นไปได้แค่ไหน และต้องใช้เวลานานเท่าไรถึงจะเกิดขึ้น

Herd Immunity (เฮิร์ด อิมมูนิตี้) หรือ ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ คือการที่ประชากรส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมากพอ จนทำให้อัตราการแพร่กระจายของโรคถูกจำกัดให้น้อยลงในระดับที่ควบคุมได้ และยังเป็นการปกป้องกลุ่มที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ในทางอ้อมไปพร้อมกันด้วย

แม้ Herd immunity คือความหวังที่เราทุกคนจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติ ทว่าในภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รวดเร็วและไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองก็ต่างตั้งคำถามว่า มีความเป็นไปได้แค่ไหนและต้องใช้เวลาเท่าไหร่ ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อโรคโควิด-19 จึงจะเกิดขึ้น

Herd Immunity สำคัญต่อการควบคุมโรคติดต่ออย่างไร?

โดยทั่วไปภูมิคุ้มกันหมู่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้นมีมากกว่าจำนวนคนที่จะติดเชื้อ หรือเป็นอัตราของประชากรอย่างน้อยที่สุดที่ต้องมีภูมิคุ้มกัน (Herd immunity threshold) ถึงจะทำให้การติดต่อของโรคลดน้อยลงเรื่อยๆ

ตัวอย่างเช่น หาก 80% ของประชากรมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส นั่นหมายความว่าในทุกๆ 5 คน จะมี 4 คนที่จะไม่เกิดการเจ็บป่วยและไม่แพร่เชื้อต่อไปยังผู้อื่น ส่งผลให้อัตราคนที่ป่วยลดน้อยลงมาก 

ทำยังไงถึงจะเกิด Herd Immunity?

ภูมิคุ้มกันหมู่นั้นเกิดขึ้นได้จาก 2 ทาง คือการติดเชื้อโดยธรรมชาติ และการฉีดวัคซีน

การติดเชื้อโดยธรรมชาติ ทำให้ร่างกายจดจำโรคและสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อสู้เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เพื่อป้องกันการติดซ้ำอีกครั้ง 

อย่างไรก็ตาม การปล่อยให้ประชาชนติดเชื้อจำนวนมากจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นนั้นไม่ใช่วิธีที่ยอมรับได้ทางวิทยาศาสตร์และทางศีลธรรม เพราะจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้เพียงพอและเกิดภาวะล้มเหลวจนมีคนล้มตายจำนวนมาก

นอกจากนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติยังมีข้อกำจัดตรงที่ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อซ้ำอีกครั้งหลังหายจากอาการป่วยได้

การฉีดวัคซีนป้องกันโรค สามารถสร้าง Herd Immunity ขึ้นได้เมื่อมีคนจำนวนมากพอได้รับวัคซีนโควิด-19 และเกิดภูมิคุ้มกันต่อสู้โรคโดยไม่จำเป็นต้องติดเชื้อจริงๆ โดยเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จในการช่วยควบคุมโรคติดต่อมาแล้วมากมายในอดีต เช่น โปลิโอ อีสุกอีใส หัดเยอรมัน และโรคคอตีบ

วัคซีนโควิด-19 จะนำไปสู่ Herd immunity ได้หรือไม่? 

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้คือทางเลือกที่ดีที่สุดในการสร้างภูมิคุ้มกันทางอ้อมให้คนที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ เช่น เด็กแรกเกิด หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทั้งยังเป็นการช่วยยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งภาวะภูมิคุ้มกันหมู่นี้คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นได้ในไม่เร็วก็ช้า

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่น่ากังวลหลายอย่าง เช่น ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือของวัคซีนที่ทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นจนปฏิเสธการรับวัคซีน การกลายพันธุ์ของเชื้อที่ส่งผลให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง และปัญหาการขาดแคลนวัคซีนและการกระจายวัคซีนที่ไม่ครอบคลุม 

นอกจากนี้ แม้ประชาชนในพื้นที่หนึ่งจะได้รับวัคซีนในอัตราที่สูง แต่หากบริเวณรอบข้างยังไม่ได้รับวัคซีน เมื่อเกิดการรวมกันของคนต่างพื้นที่ ก็ง่ายที่จะเกิดการแพร่กระจายขึ้นอีกครั้งได้

ต้องมีภูมิคุ้มกันร้อยละเท่าไรถึงจะเกิด Herd Immunity? 

ตามหลักการแล้ว ยิ่งเป็นโรคที่ติดต่อง่ายเท่าไรก็ยิ่งต้องมีสัดส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นเท่านั้น เช่น การระบาดของโรคหัดในอดีตที่คาดการณ์ว่าต้องสร้างภูมิคุ้มกันถึงร้อยละ 94 ของประชากรจึงจะยับยั้งการแพร่ระบาดได้

สำหรับเชื้อโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้ ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกาคาดว่าจำนวนผู้มีภูมิคุ้มกันอย่างน้อยที่สุดที่เพียงพอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 80% แต่หากเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดง่ายขึ้นหรือส่งผลให้ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแล้วยังคงติดเชื้อและแพร่เชื้อได้อยู่ การคาดการณ์นี้ก็อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป 

คาดการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดกับภูมิคุ้มกันหมู่

ในภาวะที่ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และไม่มีการฉีดวัคซีนมากพอ เราอาจต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ขึ้นเรื่อยๆ 

โดยนอกจากการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว อีกสิ่งที่น่ากังวลก็คือการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนของผู้ติดเชื้อ ทำให้เราต้องรับมือกับเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดต่อกันได้ง่ายขึ้น มีอาการรุนแรงกว่าเดิม หรือลดประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ลงไป

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เราสามารถฉีดวัคซีนให้คนจำนวนมากโดยเร็ว ในขณะที่ก็ยังคงเว้นระยะห่างและปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันขั้นพื้นฐาน และมีระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อออกจากผู้ที่ไม่ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ แม้ Herd Immunity จะไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน แต่ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อไปได้มาก และย่อมมีความหวังในการเข้าใกล้การควบคุมการระบาดครั้งนี้มากขึ้น

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก พร้อมดูแลทุกเรื่องสุขภาพ อ่านเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ตลอดจนวิธีการป้องกันตัวคุณเองและคนรอบข้างให้ปลอดภัย พร้อมก้าวผ่านวิกฤติด้วยสุขภาพกายและใจที่ดีได้ที่นี่

Reference

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

    /    บทความ    /    Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร?
ไม่มีเชื้อแล้ว แต่ทำไมยังมีอาการ?

Long Covid คืออะไร? ไม่มีเชื้อ ไม่ติดต่อ แต่ทำไมยังไม่หายดี? เช็คลิสต์อาการ Long Covid และวิธีรับมือด้วยตนเองในเบื้องต้น

ระยะเวลาในการฟื้นตัวจากการติดเชื้อโควิด-19 ในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นแตกต่างกันไป ตั้งแต่หลักวันถึงหลักสัปดาห์ แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่พบอาการในลักษณะ ‘Long Covid’ ซึ่งทางการแพทย์ใช้นิยามอาการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือนหลังจากพบการติดเชื้อ และยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าจะคงอยู่นานแค่ไหน และอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดขึ้น

อาการของ Long Covid

จากรายงานพบว่าแม้ผู้ป่วยจะมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการใดๆ ในระหว่างที่ติดเชื้อ ก็ยังมีโอกาสเกิดอาการแบบ Long Covid ได้อยู่ดี โดยอาจเกิดขึ้นในทันทีหรือหลายสัปดาห์หลังจากติดเชื้อก็ได้ทั้งนั้น

อาการ Long Covid ของผู้ป่วยแต่ละรายมีความแตกต่างกันไปและกินเวลายาวนานไม่เท่ากัน โดยที่พบได้บ่อย คือ 

  • อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
  • หายใจลำบาก หายใจถี่
  • เจ็บหรือแน่นหน้าอก
  • ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ
  • ไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ คิดอะไรไม่ค่อยออก
  • มีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ
  • ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ปวดตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
  • ปวดหู หูอื้อ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ไม่อยากอาหาร
  • มีไข้ ไอ เจ็บคอ การรับรู้รสและและกลิ่นบกพร่อง
  • ผื่นขึ้น มีอาการเหน็บชา

นอกจากนี้ มีรายงานชี้ว่าบางรายอาจมีอาการแย่ลงหลังจากทำกิจกรรมที่ใช้กำลังหรือใช้ความคิดได้

Long Covid พบได้บ่อยแค่ไหน?

ปัจจุบันมีรายงานพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการ Long Covid มากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากสถิติผู้ป่วยในสหราชอาณาจักรจนถึงวันที่ 6 มีนาคม 2021 มีจำนวนประมาณ 1.1 ล้านคน ที่มีอาการนานกว่า 4 สัปดาห์ตั้งแต่พบการติดเชื้อ ซึ่งในจำนวนนี้มากกว่า 2 ใน 3 มีอาการยาวนานกว่า 12 สัปดาห์

งานวิจัยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ที่ติดตามผู้ป่วยมากกว่า 1,000 คนที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล พบว่าผู้ป่วย 7 ใน 10 ยังมีอาการไม่ฟื้นตัวเต็มที่แม้จะออกจากโรงพยาบาลไปแล้วนานกว่า 5 เดือนด็ตาม

ทั้งนี้ ผู้วิจัยได้ชี้แจงว่า อาการที่เกิดขึ้นระยะยาวนี้สามารถเกิดขึ้นในการติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นได้เช่นกัน ไม่ได้เป็นอาการเฉพาะตัวของโควิด-19 และผู้ที่อาการเริ่มแรกรุนแรงถึงขั้นต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น มักจะใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่า 5 เดือนอยู่แล้ว แต่ก็มีอีกรายงานหนึ่งที่ชี้ว่าอาการ Long Covid อาจคงอยู่ได้นานกว่า 12 เดือน โดยพบได้ทั้งในกลุ่มที่อาการรุนแรงและไม่รุนแรงในระยะเริ่มแรก

ใครบ้างที่เสี่ยงมีอาการ Long Covid?

ข้อมูลจากงานวิจัยเมื่อเดือนตุลาคมปี 2020 ที่เก็บข้อมูลจากแอปพลิเคชันศึกษาอาการโควิด-19 (COVID Symptom Study) และอีกงานวิจัยจากอิมพิเรียลคอลเลจลอนดอน ที่ชี้ว่าอาการแบบ Long Covid อาจมีความเสี่ยงในบุคคลต่อไปนี้มากกว่ากลุ่มอื่นๆ 

  • ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 18-49 ปี พบเพียงประมาณ 10% ในขณะที่ 22% เป็นผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป และจะมีความเสี่ยงมากขึ้นตามตัวเลขอายุที่เพิ่มขึ้น 
  • ผู้หญิง พบได้มากกว่าผู้ชาย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหอบหืด โรคอ้วน  
  • ผู้ที่มีอาการรุนแรง โดยมีเกณฑ์วัดจากการมีอาการตั้งแต่ 5 อย่างขึ้นไปในสัปดาห์แรก 
  • กลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ และผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนที่เปราะบาง

รับมือกับ Long Covid อย่างไร?

Long Covid เป็นอาการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้แม้จะรักษาตัวจนหายติดเชื้อและสามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้วก็ตาม โดยอาการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะไม่ติดต่อไปสู่คนรอบข้าง เพราะไม่มีเชื้ออยู่ในร่างกายแล้ว

สำหรับคนที่มีอาการใดๆ ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่มีสมาธิ อารมณ์ไม่แจ่มใส สามารถบรรเทาอาการตามแนวทางต่อไปนี้

  • ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเพิ่งหักโหมทำสิ่งที่เกินกำลังตัวเอง
  • เลือกทำสิ่งต่างๆ ในช่วงเวลาที่รู้สึกมีพลังงานมากที่สุด และหมั่นหยุดพักเพื่อฟื้นพลังบ่อยๆ 
  • หากรู้สึกเหนื่อยง่าย ควรหากิจกรรมทำเป็นประจำและเพิ่มระดับการออกกำลังขึ้นเรื่อยๆ เพื่อฝึกกล้ามเนื้อและคืนความแข็งแรงให้ร่างกาย
  • พยายามทำกิจวัตรประจำวันตามปกติเพื่อลดความเครียดหรือวิตกกังวลจากลักษณะการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป และไม่ควรกดดันตัวเองว่าจะต้องฟื้นตัวหรือกลับไปทำกิจกรรมหนักๆ ตามปกติในเร็ววัน 
  • รักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเพื่อเพิ่มกำลังใจที่ดี หากไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ ควรโทรหรือวิดีโอคอลคุยกันอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้สมาธิ ควรหมั่นจดบันทึกเตือนสิ่งที่ต้องทำและพยายามกำจัดสิ่งรบกวนสมาธิทั้งหลายในระหว่างการทำงาน
  • บรรเทาอาการปวดข้อปวดกล้ามเนื้อด้วยท่าบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อ หรือจะเล่นโยคะ ฝึกไทชิ (ไทเก๊ก) ก็ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากคิดว่าตัวเองมีอาการของ Long Covid หรือมีความกังวลเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น สิ่งแรกที่ควรทำก็คือการปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะกับอาการของตัวเองมากที่สุด 

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เป็นกำลังใจให้คุณผ่านทุกเรื่องราวไปได้ด้วยดี หากต้องการคำแนะนำการดูแลตัวเองและคนรอบข้าง ไม่ว่าสุขภาพกายหรือสุขภาพใจ สามารถนัดปรึกษาทีมแพทย์ของเราได้เลยที่ LINE @primoCare

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

เดินเท้าเปล่า ธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน

    /    บทความ    /    เดินเท้าเปล่า ธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน

เดินเท้าเปล่า ธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน

เดินเท้าเปล่า
ธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน

ประโยชน์ของการเดินเท้าเปล่า ธรรมชาติบำบัดที่ทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน พร้อมเคล็ดลับเดินเท้าเปล่าสำหรับมือใหม่ให้ถูกวิธีและปลอดภัย

การปล่อยให้เด็กๆ ได้เดินเท้าเปล่าในบ้านเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะช่วยเพิ่มการทรงตัว เสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ รวมถึงพัฒนาการรูปเท้าและท่าทางการเดินที่ดี แต่รู้หรือไม่ว่าแม้แต่ในผู้ใหญ่ การเดินเท้าเปล่าก็มีประโยชน์ไม่น้อยเช่นกัน 

วันนี้คุณหมอพรีโมแคร์พามาทำความรู้จักกับการเดินเท้าเปล่า อีกหนึ่งวิธีธรรมชาติบำบัดฉบับทำเองที่บ้าน ที่แค่ขยับตัวลุกขึ้นมาก็ทำได้ในทันที 

ประโยชน์ของการเดินเท้าเปล่า

การเดินที่เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์คือการเดินโดยไม่ต้องสวมใส่รองเท้าหรือถุงเท้า การเดินเท้าเปล่าจึงเท่ากับเป็นการฟื้นฟูลักษณะการเดินอย่างที่ควรเป็น กระตุ้นให้เราได้ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน ทำให้เดินได้อย่างแข็งแรงและมั่นคงมากขึ้น ต่างจากการใส่รองเท้าที่แม้จะมีแผ่นรองเท้าเพิ่มความนุ่มสบายในการเดิน แต่อาจขาดการใช้งานกล้ามเนื้อบางส่วนไป

ประโยชน์อื่นๆ ของการเดินเท้าเปล่า

  • สามารถควบคุมท่าทางและตำแหน่งของเท้าขณะเดินได้ดีขึ้น 
  • เพิ่มการทรงตัว การรับรู้ถึงตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ทำให้เดินได้อย่างคล่องตัวและลดความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ
  • เพิ่มกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรงและรองรับน้ำหนักจากหลังส่วนล่างได้มากขึ้น
  • ช่วยปรับกลไกการเคลื่อนไหวของเท้าให้สอดคล้องกับร่างกายส่วนอื่นๆ เช่น ลำตัว สะโพก และเข่าทั้ง 2 ข้าง
  • ปลดปล่อยเท้าจากการถูกบีบรัดในลักษณะเดิมตลอดเวลา ซึ่งเสี่ยงนำไปสู่ภาวะความผิดปกติของเท้า เช่น ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง หรือนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ

เคล็ดลับเดินเท้าเปล่าถูกวิธี เพิ่มประโยชน์ต่อสุขภาพ

หากไม่ค่อยได้เดินเท้าเปล่ามาก่อน อันดับแรกควรเริ่มต้นสร้างความคุ้นชินด้วยการเดินในระยะสั้นๆ ประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้เท้าและข้อเท้าค่อยๆ ปรับตัว ก่อนจะเพิ่มเวลาในการเดินให้มากขึ้นทีละน้อยในครั้งถัดไป และทางที่ดีอย่าฝืน ควรหยุดพักเมื่อรู้สึกเจ็บหรือไม่สบายเท้า 

สำหรับมือใหม่ที่สนใจธรรมชาติบำบัดด้วยการเดินเท้าเปล่า สามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้เลย

  • ฝึกทรงตัวเพิ่มความแข็งแรง คนที่ไม่ค่อยได้เดินเท้าเปล่าอาจรู้สึกเจ็บ ไม่สบายเท้า หรือไม่ชินในระยะแรก การฝึกยืนขาเดียวบนพื้นหรือยืนเขย่งเท้าขึ้นลงช้าๆ อาจช่วยได้
  • เริ่มจากการเดินในบ้าน ในช่วงแรกควรเริ่มจากการเดินภายในบ้านเพื่อให้แน่ใจว่าปลอดภัยจากเศษของมีคมหรือสิ่งสกปรก และเลี่ยงพื้นบริเวณที่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม
  • เดินบนพื้นผิวที่ปลอดภัย เมื่อเคยชินกับการเดินในบ้านแล้ว เราก็พร้อมที่จะออกสัมผัสพื้นนอกบ้าน แต่ก็ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย แนะนำให้เดินบนหญ้า หาดทราย หรือพื้นสนามที่เป็นยาง และลงน้ำหนักอย่างใจเย็นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการเหยียบสิ่งของที่อาจมองไม่เห็น
  • หากิจกรรมที่ทำได้โดยไม่ใส่รองเท้า การใช้ชีวิตแบบเท้าเปล่าตามหลักธรรมชาติบำบัดไม่จำเป็นต้องหมายถึงการเดินเสมอไป เราสามารถใช้ประโยชน์จากกิจกรรมอื่น เช่น การเล่นโยคะ การฝึกศิลปะป้องกันตัว หรือการออกกำลังกายแบบพิลาทิส เพื่อถือโอกาสผ่อนคลายเท้าไปในขณะเดียวกันได้
  • เลี่ยงกิจกรรมอันตรายและหมั่นตรวจดูสภาพเท้า ไม่ควรวิ่งปีนป่ายหรือทำกิจกรรมผาดโผนโดยไม่ใส่รองเท้าจนกว่าจะใช้ชีวิตด้วยเท้าเปล่าจนคุ้นชินมากพอ และควรสำรวจดูบริเวณฝ่าเท้าเสมอว่ามีรอยแผลหรือการบาดเจ็บที่เกิดจากการเดินเหยียบสิ่งของตามพื้นหรือไม่

ทั้งนี้ หากรู้สึกเจ็บบริเวณส้นเท้าหลังจากการเดินเท้าเปล่า หรือมีอาการเจ็บขณะเดิน ก็อาจต้องกลับไปใส่รองเท้าที่รองรับการเดินได้ดีกว่า แล้วค่อยกลับมาฝึกเดินอย่างค่อยเป็นค่อยไปอีกครั้ง

อันตรายจากการเดินเท้าเปล่า

การเดินเท้าเปล่านอกบ้านนั้นมีประโยชน์ในการให้เท้าได้สัมผัสธรรมชาติ แต่อาจเสี่ยงอันตรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ใส่รองเท้ามาตลอด ซึ่งมักจะไม่เคยชินกับพื้นผิวที่ขรุขระ ส่งผลต่อท่าทางการเดินที่ไม่คล่องตัวและเสี่ยงเกิดการบาดเจ็บ 

นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังสภาพพื้นที่ไม่เป็นใจ โดยเฉพาะมือใหม่ที่ควรหลีกเลี่ยงพื้นผิวที่ขรุขระ เปียกชื้น หรือร้อนเกินไป รวมถึงคอยสังเกตและหลีกเลี่ยงเศษแก้วหรือสิ่งของแหลมคมที่อาจปะปนอยู่ตามพื้น

สำหรับคนที่มีแผลหรือรอยขีดข่วนตามฝ่าเท้าไม่ควรเดินเท้าเปล่านอกบ้านจนกว่าจะหายดีเพื่อป้องกันการสัมผัสเชื้อโรค รวมถึงผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเท้าและผู้ป่วยโรคเบาหวานที่จะต้องระวังเป็นพิเศษ และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เผื่อกรณีมีอาการปลายประสาทอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ไม่รู้ตัวเมื่อได้รับบาดเจ็บหรือมีบาดแผลบริเวณฝ่าเท้า

การเดินเท้าเปล่าถือเป็นวิธีการบำบัดด้วยธรรมชาติที่มีประโยชน์และทำได้ง่ายๆ ทั้งยังเพิ่มการขยับเคลื่อนไหวร่างกายไปในตัว อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญด้วย และไม่ควรหักโหมเดินเกินพอดีตั้งแต่ในครั้งแรกๆ 

ส่วนใครที่ฝึกเดินเท้าเปล่าแล้วเจ็บเท้า มีอาการปวดเมื่อยผิดปกติ หรือมีปัญหาฝ่าเท้าแบน ก็สามารถให้นักกายภาพบำบัดและทีมแพทย์พรีโมแคร์ช่วยแนะนำท่าทางที่ถูกต้องและรับการรักษาอย่างตรงจุด แอดไลน์ @primoCare หรือคลิกดูบริการของเราที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง