Categories
Uncategorized

เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดทางอากาศ ควรรับมือและป้องกันอย่างไร

    /    บทความ    /    เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดทางอากาศ ควรรับมือและป้องกันอย่างไร

เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดทางอากาศ ควรรับมือและป้องกันอย่างไร

เมื่อเชื้อโควิด-19 ติดทางอากาศ
ควรรับมือและป้องกันอย่างไร

Airborne คืออะไร เมื่อไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้ในอากาศ จะมีวิธีป้องกันตัวเองและคนรอบข้างจากการติดเชื้ออย่างไร ข้อควรหลีกเลี่ยงที่ควรรู้อย่างไร?

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2021 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ได้อัปเดตข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าสามารถติดต่อผ่านทางอากาศ (Airborne) จากเดิมที่กล่าวว่าไวรัสนี้สามารถติดต่อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่จากสารคัดหลั่งเป็นหลัก รองลงมาคือการสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัส ส่วนการแพร่กระจายทางอากาศนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก

ก่อนหน้านี้นักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทั้งในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ และประเทศต่างๆ รวมตัวกันเรียกร้องให้ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) และ CDC ทบทวนวิธีการติดต่อของเชื้อโควิด-19 และให้ความสำคัญกับมาตรการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศ หลังจากพบหลักฐานหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายทางอากาศได้พอๆ กับการสัมผัสเชื้ออีก 2 ทาง และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมในหลายกรณีจึงพบว่ามีการติดเชื้อทั้งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

เชื้อโควิด-19 ติดทางไหนกันแน่?

ขณะที่เราพูด ร้องเพลง ไอ จาม ออกกำลังกาย หรือแม้แต่หายใจตามปกติ จะมีละอองสารคัดหลั่งกระจายออกจากช่องปากและจมูก โดยละอองเหล่านี้มีอนุภาคขนาดเล็กใหญ่ต่างกันไป และแต่ละขนาดมีการแพร่กระจายของเชื้อที่ติดออกมาด้วยต่างกัน

  • ละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่ที่สุด จะตกลงสู่พื้นภายในหลักวินาทีถึงหลายนาที ทำให้สามารถได้รับเชื้อที่ติดมากับละอองฝอยเหล่านี้ผ่านทางเยื่อบุตา จมูก และปากโดยตรง โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะ 2 เมตร ซึ่งจะมีความเข้มข้นของละอองสูง และยังมีโอกาสติดเชื้อจากการนำมือที่ปนเปื้อนเชื้อจากละอองสารคัดหลั่งหรือพื้นผิวที่มีเชื้อไวรัสมาสัมผัสเยื่อบุบริเวณตา จมูก และปาก
  • ละอองสารคัดหลั่งขนาดเล็กที่สุด มีอนุภาคน้อยกว่า 5 ไมครอน ด้วยขนาดที่เล็กมากทำให้แห้งและกลายเป็นละอองลอยค้างในอากาศได้นานหลายนาทีถึงหลายชั่วโมง ทำให้สามารถติดเชื้อได้จากการหายใจเอาเชื้อในอากาศเข้าไป โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในระยะ 2 เมตร ที่มีความเข้มข้นของละอองสูง

แม้เว้นระยะห่าง ก็ยังเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ทางอากาศได้

โอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อทางอากาศจะลดน้อยลงเมื่ออยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 เมตรเช่นเดียวกับการแพร่เชื้อทางละอองสารคัดหลั่งขนาดใหญ่ แต่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่าจะทำให้เสี่ยงเกิดการติดเชื้อมากขึ้นหากมีการสัมผัสเป็นเวลานาน (มากกว่า 15 นาที) ในสภาพแวดล้อมที่มีปริมาณไวรัสในอากาศเข้มข้นขึ้น จนสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลกว่า 2 เมตร หรือสามารถติดต่อกันได้หากเข้าไปยังพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อเพิ่งออกไปไม่นาน ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้ 

  • พื้นที่ปิดที่มีการถ่ายเทอากาศไม่ดี ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อในอากาศมากยิ่งขึ้น
  • การทำกิจกรรมที่เพิ่มการปล่อยละอองสารคัดหลั่ง เช่น การใช้เสียงตะโกน การร้องเพลง การออกกำลังกาย เป็นต้น
  • การอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงดังกล่าวเป็นเวลานานกว่า 15 นาที

วิธีรับมือกับการแพร่กระจายทางอากาศของเชื้อโควิด-19

CDC ให้ข้อสรุปเกี่ยวกับหลักฐานที่พบในตอนนี้ว่าการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนบนพื้นผิวสัมผัสต่างๆ เช่น เสื้อผ้า และสิ่งของต่างๆ แล้วนำมามาสัมผัสตามใบหน้า มีความเป็นไปได้น้อยที่จะก่อให้เกิดการติดเชื้อ ส่วนระดับความเสี่ยงของการติดเชื้อทางอากาศและการได้รับละอองสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรงก็ยังมีความคลุมเครือและต้องอาศัยผลการศึกษาเพิ่มเติม ในระหว่างนี้แนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่างๆ ตามเดิม ซึ่งยังคงช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อในช่องทางต่างๆ อย่างครอบคลุม ได้แก่ 

  • เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร
  • ใส่หน้ากากอนามัยให้มิดชิดเสมอเมื่อออกจากบ้าน
  • หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ปิดที่มีคนแออัด และที่ที่มีอากาศถ่ายเทไม่ดี หากจำเป็นควรสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  • เพิ่มการถ่ายเทอากาศในห้องด้วยการเปิดหน้าต่าง หรือติดตั้งพัดลมระบายอากาศเพื่อลดการสะสมของไวรัส
  • งดกิจกรรมที่ทำให้เกิดการปล่อยละอองสารคัดหลั่งมากร่วมกับผู้อื่น เช่น การตะโกน การร้องเพลง รวมถึงการออกกำลังกายที่เพิ่มอัตราการหายใจ

ข้อมูลการแพร่ระบาดทางอากาศของไวรัสโควิด-19 ที่ CDC ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมนี้ แม้จะไม่ได้มีข้อปฏิบัติในการรับมือที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก แต่ก็ถือเป็นแนวทางให้เราตะหนักถึงความอันตรายของเชื้อโควิด-19 และใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดีกันมากขึ้น

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ต่อเนื่องและยาวนานทำให้เราต่างรู้สึกเหนื่อยล้า พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ขอเป็นกำลังใจพร้อมช่วยคุณดูแลสุขภาพกายใจให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์ อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับเคล็ดลับสุขภาพดีเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

Checklist อาการออฟฟิศซินโดรม รักษา ป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด?

    /    บทความ    /    Checklist อาการออฟฟิศซินโดรม รักษา ป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด?

Checklist อาการออฟฟิศซินโดรม รักษา ป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด?

Checklist อาการออฟฟิศซินโดรม
รักษา ป้องกันอย่างไรให้ตรงจุด?

เช็กอาการออฟฟิศซินโดรม สาเหตุ การรักษา พร้อมวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและท่านั่งในการทำงาน เพื่อป้องกันออฟฟิศซินโดรม

อาการออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) มักแวะเวียนมารบกวนใจใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนทำงานในออฟฟิศที่มักนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานานและไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นได้กับคนที่นั่งทำงานในออฟฟิศเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะทำงานที่ออฟฟิศ ทำงานที่บ้าน หรือแค่ใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นประจำทุกวัน หากนั่งไม่ถูกท่า นั่งนานเกินไป หรือมีการใช้กล้ามเนื้อบางส่วนต่อเนื่องซ้ำๆ ก็ล้วนเสี่ยงเป็นโรคนี้กันได้ทั้งนั้น

อย่าให้อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมทำลายสุขภาพและทำให้ต้องทำงานอย่างทุกข์ทรมาน พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มีวิธีสังเกตอาการออฟฟิศ การป้องกัน และท่าทางการนั่งทำงานที่ถูกต้องจากคุณหมอและนักกายภาพบำบัดมาให้ลองทำตามเพื่อพิชิตอาการออฟฟิศซินโดรมกันในบทความนี้

อาการของออฟฟิศซินโดรม

ผู้ป่วยโรคนี้มักเริ่มจากมีอาการที่ไม่รุนแรง ทำให้คิดไปว่าเป็นอาการปวดเมื่อยธรรมดา ซึ่งหากไม่ได้รักษาอาจเรื้อรังและมีอาการรุนแรงขึ้น มาลองสังเกตอาการตัวเองกันดูว่ามีสัญญาณต่อไปนี้หรือไม่

  • ปวดเมื่อยหรือปวดเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณใดบริเวณหนึ่ง เช่น คอ ไหล่ บ่า สะบัก แขน ข้อมือ รวมไปถึงหลังส่วนล่าง และอาจรู้สึกปวดร้าวไปถึงบริเวณใกล้เคียง 
  • ชาหรือมีอาการอ่อนแรงตามแขน มือ และนิ้ว ซึ่งเกิดจากการถูกกดทับของเส้นประสาท
  • มีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น ความรู้สึกซ่าๆ มีเหงื่อออก หรือเป็นเหน็บชาบริเวณที่ปวด หากเป็นบริเวณคออาจมีอาการตาพร่า มึนงง หูอื้อร่วมด้วย
  • ปวดตา ตาล้า ตาแห้ง ปวดศีรษะ โดยอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณตาหรือมีอาการคล้ายไมเกรน เนื่องจากการใช้สายตาจ้องหน้าจอนานเกินไป ซึ่งมักมีปัจจัยประกอบคือความเครียดสะสม และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ  
  • มีปัญหานอนไม่หลับ เหนื่อยล้า มีอาการซึมเศร้า

ออฟฟิศซินโดรม เกิดจากอะไรกันแน่?

  • สภาพแวดล้อมหรืออุปกรณ์การทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะและเก้าอี้ที่ไม่เหมาะกับสรีระร่างกาย ระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ต้องเงยหรือก้มหน้ามากเกินไป ระยะของแป้นพิมพ์ แสงจากหน้าจอและแสงภายในห้องที่ไม่สมดุลกัน เป็นต้น
  • การนั่งทำงานในอิริยาบถเดิมเป็นเวลานานโดยไม่มีการขยับปรับเปลี่ยนท่าหรือลุกขึ้นยืดเส้นยืดสาย 
  • การนั่งทำงานในท่าที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งหลังงอ ไหล่ห่อ ไขว่ห้าง
  • การเพ่งสายตาจ้องจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือนานๆ โดยไม่พักสายตา
  • การทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน ความเครียดจากการทำงาน การได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน และการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา

ป้องกันอย่างไรให้ห่างไกลออฟฟิศซินโดรม

ออฟฟิศซินโดรมแค่นั่งผิดท่านิดเดียวก็เป็นได้ วิธีป้องกันและรักษาด้วยตนเองง่ายๆ ต่อไปนี้จะช่วยให้คุณห่างไกลจากอาการออฟฟิศซินโดรมและสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขในทุกๆ วัน

  • นั่งในท่าที่เหมาะสม ไม่ควรนั่งหลังงอ ไหล่ห่อ ไขว่ห้าง ไม่นั่งเอนตัวไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป และควรนั่งให้เต็มก้น หากที่นั่งลึกควรหาหมอนมารองหลังไว้
  • หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถ ควรลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายทุกๆ ชั่วโมง อาจไปเดินเล่นข้างนอกหรือลุกไปเข้าห้องน้ำบ้าง อย่านั่งทำงานติดต่อกันนานเกินไป
  • ปรับระดับโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้เหมาะกับสรีระ โดยให้เท้าจรดพื้น หากเท้าอยู่สูงกว่าพื้นควรมีอะไรมารอง และให้หัวเข่าอยู่ระดับเดียวกับสะโพกหรือต่ำกว่าเล็กน้อย 
  • วางแป้นพิมพ์ให้อยู่ในระดับเดียวกับข้อศอก โดยเว้นระยะห่างให้ข้อศอกอยู่ในท่าตั้งฉากขณะพิมพ์งาน เพื่อลดการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณบ่าไหล่ และควรเลือกเก้าอี้ที่มีพนักพิงและมีที่วางแขน 
  • อย่าจ้องหน้าจอใกล้เกินไป ควรเว้นระยะห่างจากหน้าจอประมาณ 1 ช่วงแขน 
  • ให้หน้าจออยู่ในระดับสายตาหรือต่ำกว่าเล็กน้อย เพื่อให้คออยู่ในท่าปกติขณะมองจอ ไม่ต้องก้มหรือเงยหน้ามากเกินไป
  • ไม่ควรทำงานโดยวางแล็ปท็อปไว้บนตัก เพราะจะทำให้ต้องก้มมองจอตลอดเวลา หากจำเป็นจริงๆ ควรหาเบาะหรือกระเป๋ามาวางเสริมให้จออยู่สูงขึ้นจนคออยู่ในท่าที่สบาย
  • ปรับขนาดตัวอักษรและความสว่างหน้าจอให้สบายตา โดยมีความสมดุลกับแสงไฟในห้องและแสงจากภายนอก
  • หมั่นพักสายตา หมั่นมองไกลออกไปข้างนอกหรือบริเวณอื่นที่ไม่ใช่หน้าจอ และเตือนตัวเองให้หมั่นกระพริบตาเสมอ เพื่อป้องกันอาการตาล้าจากการเพ่งจ้องหน้าจอนานเกินไป 
  • ปรับสภาพแวดล้อมให้น่าทำงาน ที่ทำงานควรมีอากาศถ่ายเท สะอาด ไม่มีกลิ่นอับ เพื่อให้รู้สึกสดชื่นและหายใจได้สะดวก
  • อย่าโหมงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน โดยเฉพาะในช่วง Work from home แบบนี้ที่หลายคนมักเผลอทำงานจนเลยเวลา ควรแบ่งเวลาทำงานให้ชัดเจน หมั่นหาเวลาผ่อนคลายจากความเครียด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และรับประทานให้ตรงเวลาทุกวัน
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ความทนทาน และความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงต่ออาการปวดเมื่อยจากการนั่งทำงานในท่าเดิมนานเกินไป นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดและทำให้จิตใจแจ่มใสขึ้นได้อีกด้วย

นอกจากนี้การทำท่าบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เป็นประจำทุกวันก็เป็นวิธีเบื้องต้นที่จะช่วยลดความเมื่อยล้าและการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อส่วนที่ถูกใช้งานซ้ำๆ ได้มาก ซึ่งนักกายภาพของเราได้แนะนำท่าง่ายๆ ที่ทำได้ด้วยตนเองไว้ ตามไปดูกันได้ที่บทความนี้: สอน 13 ท่าบริหารที่ทำได้เองง่ายๆ ระหว่างช่วง Work from home

หากทำทั้งหมดนี้แล้วยังไม่ดีขึ้นหรือสังเกตว่ามีอาการเรื้อรัง อย่าปล่อยไว้นาน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยเบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้คุณตรวจประเมินโครงสร้างร่างกาย (Physical Analysis) เพื่อดูว่ามีความผิดปกติของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และระบบประสาทหรือไม่

ส่วนใครที่มีอาการของการกดทับของเส้นประสาท เช่น มือชา อ่อนแรงตามแขนขาและมือ มีอาการปวดรุนแรง ปวดแม้กระทั่งตอนนอน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ซึ่งส่วนมากมักจะต้องรักษาโดยใช้ยาบรรเทาอาการปวด ร่วมกับวิธีทางกายภาพบำบัดและปรับพฤติกรรมควบคู่กันไป 

หากมีคำถามที่อยากรู้เพิ่มเติม ต้องการนัดหมายตรวจอาการ หรือดูรายการการทำกายภาพบำบัดที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก คลิกที่นี่ได้เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

ไม่มีสมาธิ ทำยังไง? 5 วิธีฝึกสมาธิ ทำงานราบรื่นช่วง WFH

    /    บทความ    /    ไม่มีสมาธิ ทำยังไง? 5 วิธีฝึกสมาธิ ทำงานราบรื่นช่วง WFH

ไม่มีสมาธิ ทำยังไง? วิธีฝึกสมาธิ ทำงานอย่างราบรื่นช่วง WFH

ไม่มีสมาธิ ทำยังไง?
วิธีฝึกสมาธิ ทำงานอย่างราบรื่นช่วง WFH

ทำงานที่บ้านแต่ไม่มีสมาธิ ลองวิธีฝึกสมาธิง่ายๆ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในช่วง Work from home แบบสุขภาพดี

เมื่อต้อง Work from home ในช่วงโควิด-19 หลายคนคงเห็นภาพตัวเองนั่งทำงานอย่างราบรื่นในบรรยากาศเงียบสงบ โดยเฉพาะกับงานที่ต้องมีสมาธิจดจ่อ ซึ่งหากทำงานที่ออฟฟิศก็มักจะมีสิ่งรบกวนให้ไม่มีสมาธิ แต่ถึงเวลาจริงกลับพบว่าการทำงานที่บ้านนั้นใช่ว่าจะไม่มีสิ่งรบกวน เพราะมีทั้งสัตว์เลี้ยง คนในครอบครัว และสิ่งยั่วยุมากมาย เช่น รายการโปรดในทีวี หรือเสียงแจ้งเตือนจากแอปต่างๆ ในมือถือ ไหนจะความยากลำบากในการจัดสรรเวลาทำงานให้เป็นระเบียบและการต้องบังคับตัวเองให้ทำงานให้เสร็จอีก

การบังคับตัวเองในช่วง Work from home ที่มีอิสระมากกว่าการทำงานที่ออฟฟิศเป็นเรื่องยากไม่น้อย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ วันนี้ คุณหมอที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิกของเรา จะมาแนะนำ 5 เคล็ดลับเพิ่มสมาธิง่ายๆ ที่ทำได้จริงในทุกวัน ให้คุณสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพและสุขภาพดีไปพร้อมๆ กัน

1 จัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำงาน

  • เลือกมุมสงบๆ ในบ้านที่มีความเป็นส่วนตัวและมีการแบ่งสัดส่วนกั้นเป็นพื้นที่สำหรับทำงานโดยเฉพาะ 
  • จัดโต๊ะทำงานและพื้นที่บริเวณรอบๆ ให้เป็นระเบียบสะอาดตา ไม่มีของระเกะระกะ ซึ่งก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่าภาพห้องหรือโต๊ะทำงานที่ไม่เป็นระเบียบสามารถทำให้สมองด้านการเรียนรู้ของเราอ่อนล้าและจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้น้อยลงจริงๆ
  • ตกแต่งพื้นที่การทำงานให้สวยงามด้วยรูปภาพสวยๆ รูปคนที่เรารัก รูปศิลปินดาราคนโปรด หรือของเล่นที่ชื่นชอบเพื่อเพิ่มความผ่อนคลายและทำให้รู้สึกอยากทำงานมากขึ้น
  • ลองสลับไปใช้โต๊ะแบบยืนทำงาน หรือถ้าไม่มี จะใช้ชั้นวางของที่มีระดับความสูงพอดีตัวเป็นที่วางแลปท็อปแทนโต๊ะก็ได้ เพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถและเพิ่มการขยับเคลื่อนไหวร่างกาย ลดความเมื่อยล้าและป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมที่มักเกิดจากการนั่งทำงานทั้งวันโดยไม่ค่อยได้ลุกไปไหน

2 ทำทุกอย่างให้เป็นกิจวัตรเหมือนตอนทำงานที่ออฟฟิศ

  • ลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัวทุกเช้าให้เหมือนเตรียมพร้อมไปทำงานที่ออฟฟิศ วิธีนี้จะช่วยให้เรารู้สึกว่าได้เริ่มทำงานในทุกวันจริงๆ
  • แบ่งขอบเขตการทำงานและการพักผ่อนให้ชัดเจน โดยควรกำหนดเวลาเริ่มงาน เวลาพักกลางวัน และเวลาเลิกงานให้เป็นเวลาเดียวกันทุกวัน เพราะเวลาพักผ่อนและทำงานที่ไม่ชัดเจนอาจทำให้รู้สึกเหมือนต้องทำงานตลอดเวลา เมื่อนานไปจะเกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าและมีความเครียดสะสมจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในที่สุด
  • หาเวลาออกไปเดินสูดอากาศรอบบ้านหรือออกกำลังกายเบาๆ ในตอนเช้าก่อนเริ่มงานและช่วงพักกลางวันหลังรับประทานอาหาร เพื่อยืดเส้นยืดสายและผ่อนคลายสมอง
  • หมั่นพักเบรคสั้นๆ ประมาณ 10 นาที ทุกชั่วโมง เพื่อให้สมองได้ผ่อนคลายและมีพลังในการทำงานมากขึ้น เพราะการ Work from home มักทำให้เราเผลอทำงานจนลืมพัก ไม่เหมือนที่ออฟฟิศที่มีเพื่อนร่วมงานแวะมาพูดคุยหรือมีเหตุให้ได้ละสายตาจากการทำงานบ้าง ซึ่งถือเป็นการรีเฟรชร่างกายและสมองไปในตัว

3 จัดตารางเวลาและวางแผนการทำงานทุกวันล่วงหน้า

  • จดสิ่งที่ต้องทำในแต่วันลงในโพสต์อิทแล้วแปะไว้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อคอยเตือนให้ทำงานตามรายการที่เขียน หรืออาจเพิ่มความสะดวกสบายด้วยการใช้แอปพลิเคชันจดบันทึกบนคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ที่มีกำหนดการแจ้งเตือนอัตโนมัติในช่วงเวลาต่างๆ 
  • ใช้แอปพลิเคชันปฏิทิน บันทึกตารางการประชุมและกำหนดส่งงานต่างๆ รวมทั้งตั้งการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเผื่อเวลาสำหรับเตรียมตัว เท่านี้ก็จะไม่พลาดกำหนดการสำคัญต่างๆ แล้ว
  • วางแผนการทำงานในแต่ละวันล่วงหน้าและทบทวนรายการงานที่ต้องทำทุกเช้า หลังจบวันให้อัปเดตสิ่งที่ทำไปแล้วและยังไม่ได้ทำ การได้เห็นว่ามีงานที่ทำสำเร็จแล้วจะช่วยกระตุ้นให้รู้สึกดีและมีกำลังใจในการทำงานต่อๆ ไปมากขึ้น

4 กำจัดตัวก่อกวนที่ส่งผลต่อสมาธิในการทำงาน

  • ปิดเสียงโทรศัพท์ ปิดการแจ้งเตือนที่ไม่จำเป็น หรือวางไว้ให้ไกลจากโต๊ะทำงาน แต่หากทำงานที่ต้องติดต่อสื่อสารกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงานตลอดเวลาอาจเปิดโหมดโฟกัสในโทรศัพท์ หรือใช้แอปพลิเคชันที่จำกัดการใช้งานแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่เป็นต้นเหตุให้วอกแวกหรือเสียสมาธิได้ง่าย เช่น แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียและความบันเทิงต่างๆ 
  • กำหนดเวลาที่เพื่อนหรือคนในครอบครัวห้ามติดต่อหรือโทรมารบกวน ยกเว้นเมื่อมีเหตุจำเป็นเท่านั้น

5 อย่าขาดการพูดคุยสื่อสารกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน

  • ทุกวันนี้เทคโนโลยีการสื่อสารทำให้การเชื่อมต่อกันเป็นเรื่องง่ายและการ Work from home ก็ไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป การสื่อสารกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมทีมเป็นระยะจะช่วยให้เราทราบความเป็นไปของกระบวนการทำงาน ทำให้เห็นภาพรวมสิ่งที่ทุกคนกำลังทำอยู่ และยังช่วยให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเกินไปในช่วงเวลาของการ Work from home แบบนี้
  • เมื่อมีปัญหาหรือพบอุปสรรคในการทำงาน ควรใช้ช่องทางต่างๆ ในการสื่อสารเพื่อขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าจะเป็นโทรคุย ส่งอีเมล หรือส่งข้อความ

ใครจะคิดว่าแค่กระดาษโน้ตสักแผ่น หรือพื้นที่ทำงานที่สะอาดสวยงาม ก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้ และนอกจากเทคนิคข้างต้นนี้ อีกหนึ่งข้อที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงพร้อมลุยงานในทุกๆ วัน เพราะฉะนั้นห้ามละเลยการดูแลตัวเองเป็นอันขาด ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าลืมหาเวลาทำกิจกรรมคลายเครียดจากการทำงานเป็นประจำด้วย

พอแล้วกับการทำงานที่บ้านแบบอ่อนล้า ไม่มีสมาธิ Work from home รอบนี้ถ้าอยากสุขภาพดีแบบมี Work-life balance แต่ยังไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน เริ่มที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ปรึกษาและขอเคล็ดลับสุขภาพจากคุณหมอของเราได้ที่นี่เลย

บทความที่เกี่ยวข้อง

Categories
Uncategorized

คู่มือวัคซีนโควิด-19 ตอบข้อสงสัย เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

    /    บทความ    /    คู่มือวัคซีนโควิด-19 ตอบข้อสงสัย เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

คู่มือวัคซีนโควิด-19 ตอบข้อสงสัย เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

คู่มือวัคซีนโควิด-19
ตอบข้อสงสัย เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน

หลากหลายคำถามเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มียี่ห้ออะไรบ้าง ข้อมูลประสิทธิภาพ ความปลอดภัย วิธีรับมือผลข้างเคียง-อาการแพ้เบื้องต้น

ประเทศไทยเริ่มทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าและกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงไปแล้ว รวมทั้งตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนในวงกว้างให้เร็วที่สุดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ถ้าคุณมีคำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังไม่ได้รับคำตอบ วันนี้เรารวบรวมข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนจากคุณหมอที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก มาเป็นคู่มือฉบับย่อให้คุณอุ่นใจก่อนฉีดวัคซีน

วัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร?

เมื่อร่างกายของเราสัมผัสเชื้อโรคใดๆ ก็ตาม จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านเชื้อโรคนั้นในครั้งต่อไป การฉีดวัคซีนเป็นการจำลองให้ร่างกายคิดว่าเกิดการติดเชื้อขึ้นโดยใช้เชื้อที่อ่อนแอหรือบางส่วนของเชื้อที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ฉีดเข้าไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างภูมิขึ้นมาต่อสู้โรคนั่นเอง

วัคซีนโควิด-19 มีกี่ชนิด?

วัคซีนโควิด-19 ที่ขึ้นทะเบียนและผ่านการอนุมัติจากอย. ไทยไปแล้วในตอนนี้ ได้แก่ วัคซีนของบริษัท AstraZeneca, Sinovac, Johnson & Johnson, Moderna, Sinopharm และ Pfizer

ทั้งนี้ วัคซีนแต่ละยี่ห้ออาจเป็นวัคซีนต่างชนิดกันและมีกลไกการทำงานเฉพาะตัว โดยหลักๆ มี 4 ชนิดดังต่อไปนี้

  • วัคซีนเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่ทำจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้วหรือทำให้อ่อนแอจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคโควิด-19 ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Sinovac, Sinopharm, และ Bharat Biotech
  • วัคซีนแบบใช้โปรตีน เป็นการใช้ส่วนประกอบของโปรตีนหรือเปลือกหุ้มโปรตีนที่มีความคล้ายคลึงกับไวรัสโควิด-19 เข้าไปช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Novavax
  • วัคซีนแบบเวกเตอร์ไวรัส ที่มีการดัดแปลงไวรัสที่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้มาเป็นตัวส่งโปรตีนไวรัสโควิด-19 เข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ได้แก่ วัคซีนของ AstraZeneca, Johnson & Johnson และ Sputnik V
  • วัคซีน mRNA เป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบใหม่ ทำงานโดยส่งส่วนประกอบทางพันธุกรรมของไวรัสเข้าไปสร้างโปรตีนที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันไว้ต่อสู้ไวรัส ได้แก่ วัคซีนของ Pfizer และ Moderna

คำถามเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19

Q: ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีน?
A: ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิดได้อย่างปลอดภัย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง และโรคติดเชื้อเรื้อรังที่ควบคุมอาการได้ดี 

ทั้งนี้ในกรณีที่วัคซีนมีจำนวนจำกัด เป้าหมายการฉีดวัคซีนจะมุ่งไปที่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ผู้ที่เสี่ยงมีโอกาสสัมผัสโรคสูง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นอันดับแรก

เพื่อความปลอดภัยบุคคลต่อไปนี้ควรปรึกษาหรือแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับการฉีดวัคซีน

  • ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • หญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ผู้ที่เคยมีอาการแพ้รุนแรง

Q: เด็กฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่?
A: เนื่องจากเด็กมีความเสี่ยงต่ออาการรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 น้อยกว่าผู้ใหญ่ การทดลองวัคซีนส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเป็นอันดับแรก ทำให้วัคซีนที่มีในตอนนี้โดยมากจะแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 

วัคซีนโควิด-19 สำหรับเด็กในตอนนี้มีแค่วัคซีนของ Pfizer ที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานป้องกันโรคติดต่อและองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ให้สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนวัคซีนของ Moderna นั้นทางบริษัทก็ชี้ว่าผลการทดลองพบมีประสิทธิภาพสูงในเด็กอายุ 12-17 ปี ซึ่งน่าจะได้รับการอนุมัติให้ใช้ในเด็กเร็วๆ นี้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นๆ ก็ได้เริ่มทดลองประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฉีดวัคซีนในเด็กไปบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ถึงขั้นที่จะยืนยันผลได้

Q: ฉีดวัคซีนเข็มแรก กับเข็มที่ 2 คนละชนิดได้หรือไม่? 
A: สำหรับวัคซีนที่ต้องมีการฉีดมากกว่า 1 เข็ม ปัจจุบันทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่แนะนำให้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดหรือต่างยี่ห้อกัน โดยขณะนี้มีการศึกษาว่าการฉีดวัคซีนต่างชนิดในเข็มแรกและเข็มที่ 2 จะส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยหรือไม่ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการทดลองที่ไม่สามารถให้ข้อสรุปได้

Q: ฉีดวัคซีนชนิดหนึ่งครบแล้ว ฉีดวัคซีนอื่นที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าภายหลังได้ไหม?
A: กรณีที่รับวัคซีนโควิด-19 ชนิดใดชนิดหนึ่งครบโดสแล้ว แต่มีความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและต้องการรับวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นภายหลัง ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเองก็มีประชาชนจำนวนหนึ่งที่ได้รับวัคซีน Johnson & Johnson แล้ว แต่มีความกังวลในประสิทธิภาพและผลข้างเคียง จึงต้องการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอย่าง Pfizer และ Moderna ในภายหลัง 

กรณีนี้ผู้เชี่ยวชาญได้ให้คำแนะนำว่า เนื่องจากวัคซีนแต่ละชนิดอาจต้องมีการอัปเดตเพิ่มประสิทธิภาพในทุกปีเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดเดิมอาจฟังดูเข้าท่ามากกว่า แต่ก็น่าจะสามารถรับวัคซีนชนิดอื่นได้เช่นกันโดยไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและไม่มีอันตรายใดๆ และมีข้อกังวลน้อยกว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ต่างชนิดกันใน 1 โดส 

Q: เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ยังต้องฉีดไหม?
A: แม้ว่าคุณจะเคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มาก่อน ก็ควรรับการฉีดวัคซีน เพราะแม้การติดเชื้อจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายของเราสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อชนิดนี้ในอนาคต แต่ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเองโดยกลไกธรรมชาตินั้นอาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ยากที่จะรู้ได้ว่าตัวเองมีภูมิคุ้มกันมากแค่ไหนและจะคงอยู่นานเท่าไหร่ จึงยังต้องอาศัยภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนอยู่ดี

Q: ฉีดวัคซีนระหว่างที่ยังมีเชื้อโควิด-19 ได้หรือไม่?
A: ไม่ควรรับการฉีดวัคซีนหากคุณยังไม่หายจากการติดเชื้อดีและยังไม่ได้กักตัวหลังติดเชื้อครบกำหนด โดยคุณสามารถปรึกษาแพทย์ที่ทำการรักษาเกี่ยวกับเวลาที่เหมาะสมที่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 

Q: ฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนโรคอื่นได้หรือไม่?
A: จากข้อมูลในตอนนี้ ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนอื่นพร้อมกัน โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่าหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทั้ง 2 เข็มแล้ว ควรรออย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะฉีดวัคซีนชนิดอื่น หรือหากฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคอื่นมาก่อนหน้า ก็ควรรออย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ก่อนจะรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่นกัน 

แต่ในกรณีที่คุณฉีดวัคซีน 2 ชนิดโดยไม่ได้เว้นระยะห่าง 2-4 สัปดาห์ไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นฉีดวัคซีนใหม่ ขอแค่ตรวจเช็กให้มั่นใจว่าได้ฉีดวัคซีนครบโดสตามที่กำหนด

ประสิทธิภาพการป้องกันโรคของวัคซีนโควิด-19

Q: วัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องการติดเชื้อได้ 100% หรือไม่?
A: ไม่มีวัคซีนใดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน 100% ดังนั้น แม้จะได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มแล้ว บางคนอาจติดเชื้อและมีอาการจากโรคได้อยู่ดี แต่การฉีดวัคซีนจะช่วยปกป้องคุณจากอาการรุนแรง การเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโรค รวมทั้งช่วยลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนรอบข้างที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้

Q: วัคซีนช่วยป้องกันโรคได้นานแค่ไหน?
A: จากการศึกษาตอนนี้ยังไม่ทราบว่าภูมิคุ้มกันในการต่อสู้โรคโควิด-19 จากการฉีดวัคซีนนั้นจะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นได้นานแค่ไหน สำหรับวัคซีน Pfizer และ Moderna นั้นเบื้องต้นคาดว่าจะคงประสิทธิภาพการป้องกันที่สูงอย่างต่ำ 6 เดือน ซึ่งแม้จะฉีดวัคซีนครบตามที่แนะนำแล้วก็ยังต้องเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัย ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม และล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันตัวคุณเองและคนที่คุณรัก

Q: ทำไมบางคนติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนทันที?
A: โดยปกติแล้วการฉีดวัคซีนมักต้องใช้เวลาในการกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 ประมาณ 14 วัน ในระหว่างนี้จึงมี
ความเป็นไปได้ที่คุณจะป่วยจากการติดเชื้อในช่วงก่อนหน้าหรือแม้แต่หลังจากฉีดวัคซีน เนื่องจากในช่วงเวลานั้นร่างกายยังสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่มากพอ 

Q: ฉีดวัคซีนทำให้ผลตรวจเชื้อเป็นบวกได้หรือไม่?
A: การฉีดวัคซีนไม่ได้ทำให้เกิดการติดเชื้อและไม่สามารถทำให้ผลตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ PCR ที่เป็นการตรวจการติดเชื้อที่แม่นยำโดยเก็บสารคัดหลั่งเป็นบวก 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวัคซีนจะกระตุ้นให้มีภูมิคุ้มกันต่อต้านโรค จึงเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อจากการตรวจหาแอนติบอดีในเลือด ซึ่งเป็นวิธีการตรวจเพื่อดูว่ามีภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนหรือจากการฉีดวัคซีนหรือไม่

Q: มีวัคซีนแล้ว เมื่อไหร่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะหมดไป?
A: การยับยั้งการแพร่ระบาดจำเป็นต้องอาศัยภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเกิดภูมิคุ้มกันต่อโรคในคนจำนวนมากพอ โดยภูมิคุ้มกันสามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติจากการที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน หรือได้รับการฉีดวัคซีนนั่นเอง 

เมื่อมีคนจำนวนมากที่มีภูมิคุ้มกัน การแพร่กระจายของไวรัสจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่งจะเป็นไปได้ยากขึ้น ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดน้อยลงอย่างมาก และยังช่วยปกป้องผู้ที่ไม่สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ เช่น ทารกแรกเกิด และผู้ที่แพ้วัคซีนรุนแรง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบจำนวนการฉีดวัคซีนของประชากรโลกที่จะช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้

การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจะเร็วหรือช้า จึงขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น จำนวนคนที่ได้รับวัคซีน ความรวดเร็วในการอนุมัติใช้วัคซีน กำลังการผลิต การกระจายวัคซีนให้ประชาชน รวมไปถึงการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสที่อาจส่งผลให้วัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการป้องกันลดลง

Q: วัคซีนแต่ละชนิดป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ทุกสายพันธุ์หรือไม่?
A: วัคซีนส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพป้องกันไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์อื่นด้วย โดยอาจมีประสิทธิภาพลดลงไปแต่ก็ยังสามารถช่วยป้องกันอาการรุนแรงและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้อยู่ดี เนื่องจากวัคซีนมักจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในวงกว้าง แต่หากมีวัคซีนใดที่มีประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ลดลงอย่างมาก ก็เป็นไปได้มากที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของวัคซีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันจากสายพันธุ์นั้นด้วย

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนโควิด-19

Q: วัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัยแค่ไหน?
A: เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโรคที่ไม่เคยพบมาก่อนและมีความรุนแรง จึงมีการประกาศใช้วัคซีนอย่างฉุกเฉิน แต่วัคซีนเหล่านี้ก็ยังต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทางความปลอดภัยและประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากข้อมูลและผลการทดลองในระยะต่างๆ รวมทั้งจะมีการติดตามผลข้างเคียงและความปลอดภัยของการใช้วัคซีนเป็นระยะ ซึ่งการอนุมัติใช้วัคซีนแต่ละชนิดในแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไป

สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้อย่างฉุกเฉินโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ในตอนนี้ ได้แก่ วัคซีนของบริษัท Pfizer, AstraZeneca/Oxford, Johnson & Johnson, Moderna, Sinopharm, และ Sinovac

Q: มีผลข้างเคียงจากการฉีดหรือไม่?
A: วัคซีนโควิด-19 มีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ คือ ปวด บวม หรือแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ในช่วง 1-2 วันหลังฉีด เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น โดยอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มักจะรุนแรงกว่าเข็มที่ 1

อาการทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ก็ไม่ได้น่ากังวล เพราะเป็นสัญญาณปกติที่บ่งบอกว่าร่างกายกำลังสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาปกป้องคุณจากโรคนี้ ทั้งนี้สามารถบรรเทาอาการปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีนด้วยการประคบเย็น และหากมีไข้หรือรู้สึกอ่อนเพลียควรดื่มน้ำแล้วนอนพักผ่อนให้มาก 

คุณสามารถสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการรับประทานยาแก้ปวดหรือแก้อักเสบหากมีอาการข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน แต่ไม่แนะนำให้รับประทานยาดักไว้เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากวัคซีน เว้นแต่ว่ามีความจำเป็นต้องรับประทานยารักษาโรคบางชนิดเป็นประจำอยู่แล้ว

Q: สังเกตอาการผิดปกติหลังฉีดวัคซีนอย่างไร?
A: อาการไม่สบายตัวหรือปวดบริเวณที่ฉีดวัคซีนมักจะหายไปเองในเวลาไม่นาน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่ผิดปกติหรือกังวลใจ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีสัญญาณของอาการแพ้รุนแรง เช่น บวมที่หน้า ริมฝีปาก คอ หายใจลำบาก มีผื่นลมพิษขึ้นตามตัว เป็นต้น 

Q: มีอาการแพ้ สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?
A: หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) แนะนำว่าผู้ที่มีประวัติแพ้ยา อาหาร แมลง หรือสารก่อภูมิแพ้ทั่วไปสามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ แต่ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้วัคซีนชนิดอื่นๆ อย่างรุนแรง (Anaphylaxis) มาก่อนควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยง และทุกครั้งหลังจากฉีดวัคซีนแล้วควรนั่งรอดูอาการประมาณ 30 นาทีเพื่อสังเกตอาการแพ้

Q: การฉีดวัคซีนส่งผลต่อ DNA ของเราได้หรือไม่?
A: มีวัคซีนบางชนิด ได้แก่ วัคซีน mRNA และวัคซีนเวกเตอร์ไวรัส ที่ทำงานโดยส่งสารพันธุกรรมของไวรัสเข้าไปสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 แต่ส่วนประกอบของวัคซีนเหล่านี้จะไม่เข้าไปยังนิวเคลียสของเซลล์ที่มี DNA บรรจุอยู่ จึงวางใจได้ว่าการฉีดวัคซีนจะไม่ส่งผลกระทบต่อ DNA ของเราไม่ว่าทางใดก็ตาม

“คุณจะไม่มีวันปลอดภัยอย่างแท้จริงถ้าคนอื่นไม่ปลอดภัย” นี่คือหนึ่งข้อความที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนในการปกป้องตัวคุณเองและคนรอบข้างจากโรคติดต่อทั้งหลาย ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงโรคที่ร้ายแรงและเป็นปัญหาระดับโลกอย่างโควิด-19 ด้วย 

ฉีดวัคซีนแบบมั่นใจ ไม่กลัวพลาด ปรึกษาคุณหมอที่ พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก เพื่อเตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน หรือกดดูบริการอื่นๆ ของเราได้เลยที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง