/    บทความ    /    เสื่อมสมรรถภาพทางเพศเพราะสุขภาพจิตย่ำแย่ ปัญหาที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศเพราะสุขภาพจิตย่ำแย่ ปัญหาที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม

เสื่อมสมรรถภาพทางเพศเพราะสุขภาพจิตย่ำแย่
ปัญหาที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม

ผู้ชายนั่งเครียดกุมศีรษะที่ปลายเตียงจากปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ด้านข้างมีผู้หญิงนอนหลับอยู่

เชื่อหรือไม่ว่าภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย หรือที่มักเรียกกันว่า “นกเขาไม่ขัน” อาจไม่ได้เกิดจากปัญหาทางด้านร่างกายเสมอไป โดยกว่า 40% ของปัญหานี้มีปัจจัยทางด้านสุขภาพจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นความเครียด วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือแม้แต่ความรู้สึกผิด รวมถึงความไม่มั่นใจในตัวเอง และความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์

อาการของภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การที่อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวอย่างที่ควร เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราวและไม่ได้น่าวิตกกังวลมากนัก แต่หากปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ (ประมาณร้อยละ 50 ขึ้นไป) นั่นอาจแสดงถึงภาวะเสื่อมสมรรถภาพ ซึ่งมีชื่อเรียกทางการแพทย์เรียกสั้นๆ ว่า ED (Erectile dysfunction) ได้

อาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกการเสื่อมสมรรถภาพในเพศชาย

  • อวัยวะเพศไม่แข็งตัวเต็มที่ หรือไม่แข็งตัวพอที่จะมีเพศสัมพันธ์ให้สำเร็จ
  • อวัยวะเพศหดตัวก่อนเสร็จกิจ
  • มีภาวะหลั่งเร็วหรือหลั่งช้าเกินไป
  • มีความสนใจในเซ็กส์ แต่การมีเซ็กส์กลับกลายเป็นเรื่องยาก

ทั้งนี้ แต่ละคนอาจมีอาการของภาวะนี้แตกต่างกันไป การคอยหมั่นสังเกตความผิดปกติและปัญหาการแข็งตัวที่กระทบการร่วมเพศ จะทำให้คุณสามารถให้ข้อมูลแก่แพทย์ได้โดยละเอียด และช่วยให้การวินิจฉัยเป็นไปได้ง่ายขึ้น

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ เกิดจากอะไร?

การแข็งตัวของของเพศชายแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

  • การแข็งตัวที่เกิดจากสิ่งเร้าทางร่างกาย เช่น การสัมผัส
  • การแข็งตัวที่เกิดจากสิ่งเร้าทางจิต เช่น ความนึกคิด จินตนาการ มุมมองต่อความสัมพันธ์
  • การแข็งตัวในตอนกลางคืนขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ

เมื่อกลไกทางจิตเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อการตื่นตัวทางเพศ สุขภาพจิตของเราจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศตามมาได้ โดยอาจเป็นผลจากความเครียดและวิตกกังวล ความไม่มั่นใจในรูปร่างตัวเอง ปัญหาสุขภาพจิตที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาการนอนหลับ รวมถึงการกังวลว่าตนเองมอบความสุขในการร่วมรักให้กับคู่ได้ไม่เพียงพอ 

เจาะลึก ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศจากปัจจัยทางสุขภาพจิต 

  • ความเครียดและความวิตกกังวล ปัญหาต่างๆ ในชีวิต เช่น การทำงาน การเงิน​ ความขัดแย้งในครอบครัว​ อาจส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจจนไม่อยากคิดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ฮอร์โมนความเครียดที่ร่างกายปล่อยออกมาก็กระทบต่อการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้เช่นกัน
  • ภาวะซึมเศร้า สารเคมีในสมองที่เปลี่ยนแปลงจนเป็นสาเหตุของภาวะซึมเศร้าอาจส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมแรงขับทางเพศและการแข็งตัวของอวัยวะเพศ และมีงานวิจัยชี้ว่า 75% ของผู้ป่วยซึมเศร้ามักมีปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์ตามมา
  • ปัญหา​​ความสัมพันธ์​ การกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องปกติของคู่ชีวิต แต่​หากขาดการพูดคุยสื่อสารให้เข้าใจ ก็อาจเป็นตัวแปรให้ความสัมพันธ์​เปราะบางและมีความปรารถนาต่อกันน้อยลง
  • ความกลัวว่าจะสร้างความพึงพอใจให้คู่ได้ไม่มากพอ ความวิตกกังวลในสมรรถภาพทางเพศของตัวเองมากเกินไปอาจเป็นเหตุให้อวัยวะเพศไม่แข็งตัวขึ้นจริงๆ ได้
  • การเสพติดหนังโป๊ รวมถึงสื่อลามกอื่นๆ ในการช่วยตัวเอง อาจเป็นสาเหตุของภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้เช่นกัน เพราะการเสพติดคือการที่สมองถูกฝึกให้ส่งความรู้สึกตื่นตัวออกไปเมื่อได้ดูหนังโป๊เท่านั้น นอกจากนี้ยังอาจสร้างความคาดหวังที่เป็นไปได้จริงยากต่อความสามารถในการมีเซ็กส์ของตัวเอง เนื่องจากยึดติดกับภาพเกินจริงและความแฟนซีที่หนังโป๊สร้างขึ้น
  • การขาดความมั่นใจในตัวเอง ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความมั่นใจในตัวเองถดถอย ในทางกลับกันผู้ที่มีความมั่นใจต่ำก็อาจด้อยค่าตัวเองว่าไม่มีเสน่ห์ดึงดูดหรือไม่คู่ควรกับอีกฝ่าย นอกจากนี้ความไม่มั่นใจยังทำให้เกิดความรู้สึกผิด​ ซึมเศร้า​ ​วิตกกังวล​และกลัวถูกปฏิเสธ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ได้กล่าวไปแล้ว
  • ความเฉยชาในความสัมพันธ์​ อาจเกิดจากความเบื่อหน่ายหรือความขัดแย้งที่มาแทนที่ความตื่นเต้นและความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่รัก
  • ความรู้สึกผิด ไม่ว่าจากเรื่องใดก็ตาม อาจทำให้มีความคิดลงโทษตัวเองและปฏิเสธความพึงพอใจจากเซ็กส์เพื่อไถ่โทษ รวมถึงความรู้สึกผิดที่มีอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนาหรือวัฒนธรรมบางอย่างที่มองว่าการมีเซ็กส์คือเรื่องผิดบาปน่าละอาย

ตรวจสอบตัวเองด้วยคำถามง่ายๆ

วิธีตรวจสอบภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่เกิดจากสุขภาพจิตในเบื้องต้น ให้ลองตอบคำถามต่อไปนี้

  1. อวัยวะเพศแข็งตัวปกติเมื่อตื่นนอนตอนเช้าหรือไม่
  2. ชีวิตช่วงนี้กำลังเผชิญความเครียดและวิตกกังวลอย่างมากหรือไม่
  3. อวัยวะเพศแข็งตัวเมื่อช่วยตัวเองหรือไม่
  4. กังวลว่าจะไม่สามารถทำให้คู่พอใจในการร่วมเพศหรือไม่

หากตอบว่า “ใช่” ในข้อใดข้อหนึ่งข้างต้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นภาวะเสื่อมสมรรถภาพที่เกิดจากสาเหตุทางจิตใจมากกว่าภาวะจากความผิดปกติทางร่างกายได้

วิธีรับมือกับภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

การรักษาภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศที่เกิดจากจากปัจจัยทางจิตใจจะมุ่งเน้นไปที่การหาสาเหตุแฝงทางสุขภาพจิตและบำบัดด้วยวิธีทางจิตวิทยาเป็นหลัก ทั้งนี้ ปัญหาด้านสมรรถภาพทางเพศอาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่หลายคนไม่อยากพูดถึง แต่นักจิตบำบัดมืออาชีพนั้นสามารถช่วยให้เรารู้สึกสบายใจที่จะระบายความในใจ พร้อมกับแนะนำทางออกที่ดีต่อสุขภาพจิต โดยมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลการรักษาทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ

ในขั้นตอนการบำบัด นอกจากการพูดคุยให้คำปรึกษาเพื่อจัดการกับความคิดและความรู้สึกที่เป็นตัวการของปัญหาการแข็งตัวของอวัยวะเพศ นักจิตวิทยาอาจแนะนำวิธีพูดคุยกับคู่รักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาเพื่อร่วมกันแก้ไข แทนที่จะปกปิดหรือปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดและเกิดเป็นปัญหาความสัมพันธ์เรื้อรัง รวมถึงการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาและทัศนคติต่อการมีเพศสัมพันธ์ในแง่บวก

ในทางตรงกันข้าม หากภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเกิดจากสาเหตุด้านร่างกาย ได้แก่ ความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้น และอาการเจ็บป่วยที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดบริเวณอวัยวะเพศ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคความผิดปกติทางฮอร์โมน การรักษานั้นมักเป็นการใช้ยาเข้าช่วยและเน้นควบคุมโรคที่ส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศ

เมื่อไรถึงควรไปพบแพทย์?

อาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวหรือแข็งตัวไม่เต็มที่ที่นับวันยิ่งรุนแรงหรือเกิดขึ้นบ่อยเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ ซึ่งการวินิจฉัยเบื้องต้นมักเริ่มจากตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อระบุว่าเกิดจากสาเหตุทางร่างกายหรือไม่ ตลอดจนการถามคำถามเพื่อประเมินสุขภาพทางเพศและระดับความเครียดที่เป็นปัจจัยแฝง

ภาวะเสื่อมหรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศที่เกิดจากกลไกทางจิตใจและอารมณ์เกิดขึ้นได้กับผู้ชายทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และไม่จำเป็นต้องมีความผิดปกติทางร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอไป ถ้ารู้สึกว่าตัวเองกำลังประสบปัญหานี้ หรือมีความเครียดความวิตกกังวลที่น่าจะส่งผลต่อแรงขับทางเพศ สามารถนัดหมายปรึกษาแพทย์และนักจิตวิทยาพรีโมแคร์​ที่นี่

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายล่วงหน้าที่ @primocare 
โทร 02-038-5595, 082-527-9924
คลิกดูหลากหลายบริการของเราที่นี่