/    บทความ    /    วิธีการเลือกและล้างผักผลไม้ ให้สะอาด ปลอดสารพิษและโควิด-19

วิธีการเลือกและล้างผักผลไม้ ให้สะอาด ปลอดสารพิษและโควิด-19

วิธีการเลือกและล้างผักผลไม้ ให้สะอาด
ปลอดสารพิษและโควิด-19

เจาะลึกวิธีล้างผักผลไม้ให้สะอาด ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือก ล้าง และรับประทาน ทำอย่างไรให้แน่ใจว่าปลอดสารพิษและเชื้อโรคปนเปื้อน

ในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด วิธีการล้างผักและผลไม้ให้สะอาด​เป็นเรื่องที่หลายคนใส่ใจและระมัดระวังกันมากขึ้น ด้วยกลัวว่าอาจมีเชื้อโควิด-19 ปนเปื้อนมากับผัก ผลไม้ และของสดทั้งหลาย บทความนี้นักโภชนาการพรีโมแคร์ถือโอกาสชวนคุณมารู้ลึกทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือก ล้าง และรับประทานผักผลไม้แบบปลอดภัยจากเชื้อโรคและสารพิษปนเปื้อน

ทำไมเราถึงควรล้างผักและผลไม้?

ผักผลไม้ที่เราบริโภคนั้นอาจปนเปื้อนสิ่งสกปรกและเชื้อโรคต่างๆ ได้จากหลายทาง ทั้งการปนเปื้อนมูลสัตว์และสารเคมีในดินและน้ำจากขั้นตอนเพาะปลูก หรือการเก็บเกี่ยวและขนส่งที่ไม่ถูกสุขอนามัย โดยกว่าผักผลไม้จะมาถึงมือเราก็อาจผ่านมือใครหลายต่อหลายคน นอกจากนี้ยังไม่อาจรู้ได้เลยว่าในระหว่างที่ผักผลไม้วางอยู่บนแผงสินค้ารอให้เราเลือกซื้อนั้นมีใครผ่านมาไอหรือจามใส่บ้าง 

การล้างผักผลไม้ก่อนนำมารับประทานหรือใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารนั้นไม่มีข้อยกเว้น เพราะแม้จะเป็นผักผลไม้จากสวนหลังบ้านที่ปลูกเองแบบปลอดสารพิษก็ยังอาจมีสิ่งสกปรกปนเปื้อนมาได้ และไม่ว่าจะอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือในสถานการณ์ปกติ เราก็ควรให้ความสำคัญกับการล้างผักผลไม้ให้สะอาดเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพไม่ต่างกัน ยกเว้นแต่ในกรณีที่มีคำแนะนำระบุไว้บนฉลากบรรจุภัณฑ์ว่าสามารถรับประทานได้ทันทีโดยไม่ต้องล้างเท่านั้น 

กินผักผลไม้สด เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ไหม?

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจทำให้หลายคนกลัวและไม่กล้ารับประทานผักผลไม้สด อย่างไรก็ตาม ผักและผลไม้เป็นอาหารสำคัญที่ควรรับประทานให้มากในแต่ละวันเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยปัจจุบันไม่มีข้อมูลรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการรับประทานอาหารและผักผลไม้สดแต่อย่างใด

ขั้นตอนการเลือกและเก็บรักษาผัก

การรับประทานผักผลไม้ที่สดสะอาดเริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการเลือกสรร โดยมีคำแนะนำดังนี้

  • เลือกผักผลไม้ที่ไม่มีรอยช้ำหรือเน่าเสีย 
  • ผักผลไม้ที่หั่นพร้อมรับประทาน ควรเลือกที่วางขายในตู้แช่เย็นหรือมีน้ำแข็งให้ความเย็นตลอดเวลา
  • แยกถุงผักผลไม้กับเนื้อสัตว์ดิบออกจากกันทั้งในขั้นตอนการซื้อและเก็บในตู้เย็น
  • หากละลายเนื้อแช่แข็งในตู้เย็น ไม่ควรวางไว้เหนือชั้นผักผลไม้ เพราะน้ำที่ละลายจากเนื้ออาจหยดลงไปจนทำให้เกิดการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในผักผลไม้ได้
  • แยกเขียงสำหรับใช้หั่นเนื้อสัตว์​และผักผลไม้​ออกจากกัน​ เพื่อป้องกันปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย​
  • ผักผลไม้ที่หั่นหรือปอกเปลือกเรียบร้อยแล้ว​ หรือเหลือจากการทำอาหาร ควรนำไปแช่ตู้เย็นภายใน 2 ชั่วโมง โดยใส่ในกล่องสะอาด และให้แน่ใจว่าอุณหภูมิตู้เย็นอยู่ที่ 4°C หรือน้อยกว่านั้น

วิธีล้างผัก ผลไม้ให้สะอาดปลอดภัยง่ายๆ ใน 6 ขั้นตอน

เรื่องที่หลายคนอาจยังไม่รู้​ก็คือ​ ​เราไม่ควรล้างผักและผลไม้เตรียมไว้ล่วงหน้า แต่ควรนำออกมาล้างก่อนรับประทานหรือนำมาใช้ทันทีเท่านั้น เพราะการล้างผักผลไม้ก่อนเก็บในตู้เย็นอาจทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเติบโตและเพิ่มจำนวนของเชื้อแบคทีเรียได้

วิธีการล้างผักผลไม้ให้สะอาดและถูกต้องทำได้ง่ายๆ​ ตามคำแนะนำของนักโภชนาการพรีโมแคร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของอาหาร ใน 6 ข้อต่อไปนี้

1. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่า 20 วินาที ก่อนและหลังขั้นตอนการเตรียมผักผลไม้หรือวัตถุดิบสดทุกครั้ง รวมทั้งทำความสะอาดภาชนะที่ใช้ใส่ และมีดปอกผลไม้ก่อนนำมาใช้

2. หากสังเกตถึงรอยช้ำหรือเสียหาย ให้ตัดหรือเด็ดส่วนที่เสียทิ้งไปก่อนนำไปรับประทานหรือเตรียมอาหาร

3. ผักผลไม้ที่มีเปลือก ควรล้างก่อนจะปอกหรือตัดส่วนที่เสียออกทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรกจากเปลือกปนเปื้อนในเนื้อผักผลไม้จากการใช้มีด

4. ควรล้างโดยเปิดน้ำจากก๊อกให้ไหลผ่าน พร้อมทั้งถูตามผิวของผักหรือผลไม้เบาๆ เพื่อขจัดคราบดินและสิ่งสกปรก 

  • ผักผลไม้ที่มีเปลือกค่อนข้างแข็ง เช่น แตงโม แตงกวา มันฝรั่ง มันเทศ แครอท มะนาว ส้มโอ สามารถใช้แปรงขนนุ่มขัดที่เปลือกเพื่อขจัดคราบสกปรกที่ติดตามผิวออกไปได้ดียิ่งขึ้น
  • ผักใบเขียวจำพวกผักกาด ผักโขม กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก และตระกูลกะหล่ำอื่นๆ ควรเด็ดใบส่วนนอกสุดทิ้งไป และล้างในภาชนะที่สามารถกดแช่ไว้ในน้ำ เพื่อให้น้ำเข้าไปชำระได้ทั่วถึง ก่อนจะล้างโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่านอีกครั้ง
  • ผักผลไม้ที่ช้ำง่าย เช่น ตระกูลเบอร์รี่ และเห็ด ควรล้างโดยเปิดน้ำให้ไหลผ่านอย่างสม่ำเสมอ แต่ต้องระวังไม่ให้มีแรงดันน้ำมากเกินไปจนเกิดรอยช้ำหรือเสียหาย

5. การใช้น้ำสะอาดล้างผักผลไม้ถือว่าเพียงพอแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในการล้าง เพราะอาจทำให้เกิดการดูดซึมสารเคมีเหล่านี้เข้าไปจนเป็นอันตรายต่อการนำมารับประทาน 

6. หลังล้างเสร็จเรียบร้อยแล้วใช้กระดาษชำระหรือผ้าขนหนูเช็ดให้แห้ง เพื่อขจัดแบคทีเรียให้หลงเหลืออยู่น้อยที่สุด

หลังจากล้างผักและผลไม้จนสะอาดดีแล้ว ก็ต้องไม่ลืมรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบมารับประทานหรือปรุงอาหารทุกครั้งด้วย

ควรล้างผักผลไม้ด้วยน้ำส้มสายชูหรือเบกกิ้งโซดาหรือไม่?

หลายคนอาจเคยได้ยินมาว่าการแช่ผักผลไม้ในน้ำส้มสายชูจะช่วยทำความสะอาดได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ มีงานวิจัยบางส่วนชี้ว่าการล้างผักผลไม้ด้วยน้ำส้มสายชู น้ำมะนาว หรือผลิตภัณฑ์ล้างผักและผลไม้ ไม่ได้ช่วยลดแบคทีเรียไปมากกว่าการล้างด้วยน้ำเปล่า

ส่วนการใช้เบกกิ้งโซดานั้นอาจช่วยกำจัดยาฆ่าแมลงที่ติดตามพื้นผิวได้ดียิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นผู้เชี่ยวชาญก็ยังคงยืนยันว่า ในกรณีส่วนใหญ่การล้างผักผลไม้โดยเปิดน้ำไหลผ่าน พร้อมกับถูหรือขัดเบาๆ นั้นถือว่าเพียงพอแล้ว

การล้างผักผลไม้ช่วยกำจัดสารพิษตกค้างได้ไหม?

ปริมาณสารเคมีและยาฆ่าแมลงที่อาจปนเปื้อนมากับผลไม้ในขั้นตอนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวนั้นจะลดลงไปเมื่อเราล้างทำความสะอาดผักผลไม้ นอกจากนี้วิธีล้างด้วยเบกกิ้งโซดาก็อาจช่วยชะล้างยาฆ่าแมลงที่ติดตามผิวได้มากขึ้นตามที่กล่าวไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาฆ่าแมลงสามารถซึมผ่านลงไปในพื้นผิวของผักผลไม้ การปอกเปลือกจึงเป็นวิธีที่ช่วยลดสารเคมีตกค้างได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือจะทำให้สูญเสียสารธรรมชาติในส่วนผิวของผักผลไม้ไปด้วย 

แม้ว่าผักผลไม้ที่เรารับประทานอาจมีสารเคมีตกค้างอยู่บ้าง และยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ 100% แต่ด้วยประโยชน์ทางคุณค่าสารอาหารก็ควรรับประทานผักผลไม้ให้มากอยู่ดี และเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วอย่างไรประโยชน์ด้านสุขภาพที่จะได้รับก็ยังคงมีมากกว่าอันตรายจากการได้รับสารเคมีตกค้าง แต่หากเป็นกังวลอาจหลีกเลี่ยงโดยเลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจได้ว่าเป็นผักผลไม้ออร์แกนิกและปลอดสารพิษ

สุขภาพดีที่ปรับได้ตามไลฟ์ส​ไตล์​เฉพาะตัว มีหมอพรีโมแคร์ช่วยดูแล คลิกดูบริการของเราที่นี่ หรือสอบถามเพื่อปรึกษาแพทย์ นักจิตวิทยา นักกายภาพบำบัด และนักโภชนาการบำบัด ได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference