/    บทความ    /    4 วิธีการละลายเนื้อแช่แข็งแบบปลอดภัย คงคุณค่าสารอาหารครบถ้วน

4 วิธีการละลายเนื้อแช่แข็งแบบปลอดภัย คงคุณค่าสารอาหารครบถ้วน

4 วิธีการละลายเนื้อแช่แข็งแบบปลอดภัย
คงคุณค่าสารอาหารครบถ้วน

วิธีละลายเนื้อสัตว์แช่แข็งแต่ละชนิดที่ถูกต้อง ปลอดภัย ไม่ต้องกังวลเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน วิธีที่คุณทำอยู่ถูกหรือผิด เช็คที่นี่

แม้การทำอาหารกินเองที่บ้านในช่วงนี้จะสะดวกสบายและปลอดภัยมากกว่าการรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่ก็ต้องใช้เวลานานในขั้นตอนการเตรียมอาหาร โดยเฉพาะกรรมวิธีละลายเนื้อแช่แข็งและอาหารแช่แข็งต่างๆ ที่หลายคนพยายามหาวิธีเพื่อย่นเวลาให้เร็วที่สุด จนทำให้อาจลืมนึกถึงอันตรายจากการรับประทานเนื้อสัตว์แช่แข็งที่ละลายไม่ถูกวิธี

ทำไมวิธีละลายเนื้อแช่แข็งที่ถูกต้องถึงสำคัญ?

เนื้อสัตว์ทั้งที่สุกและดิบ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว หมู ไก่ ปลา หรืออาหารทะเล เป็นวัตถุดิบที่เราสามารถเก็บไว้ได้นานในช่องแช่แข็งที่อุณหภูมิ 0°C อย่างปลอดภัย เพราะเป็นอุณหภูมิที่จะแช่แข็งและหยุดการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ในอาหาร เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และเชื้อราต่างๆ 

ทว่าในขั้นตอนการนำวัตถุดิบแช่แข็งเหล่านี้ออกมาละลายเพื่อเตรียมทำอาหารนั้น หลายคนมักทำพลาดโดยใช้วิธีละลายที่อุณหภูมิห้องหรือละลายในน้ำอุ่นเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งวิธีการละลายเนื้อแช่แข็งแบบนี้ถือเป็นข้อห้ามสำคัญ เพราะเมื่อไรก็ตามที่อุณหภูมิของเนื้อเพิ่มสูงกว่า 4°C แบคทีเรียที่เคยถูกแช่แข็งไว้ก็จะเริ่มเติบโตและก่อตัวมากขึ้นจนอาจเกิดอาการอาหารเป็นพิษเมื่อรับประทานเข้าไปได้ 

มีวิธีละลายเนื้อแช่แข็งอย่างไร ให้คงคุณค่าทางสารอาหาร?

นักโภชนาการพรีโมแคร์ชวนมารู้จัก 4 วิธีละลายเนื้อแช่แข็งที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัยและถูกสุขอนามัย โดยควรเลือกใช้ให้ถูกกับชนิดของเนื้อและจุดประสงค์ในการทำอาหาร ดังนี้

1 ละลายเนื้อแช่แข็งในตู้เย็น 

เป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด เนื่องจากอุณหภูมิในตู้เย็นนั้นคงที่ ทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีแบคทีเรียเติบโตขึ้น โดยต้องควบคุมอุณหภูมิในตู้เย็นให้ต่ำกว่า 4°C และแนะนำให้นำอาหารหรือเนื้อแช่แข็งออกมาวางรอละลายบริเวณชั้นล่างสุดของตู้เย็นเพื่อป้องกันน้ำที่ละลายหยดไปโดนอาหารในชั้นอื่นจนเกิดการปนเปื้อนของแบคทีเรียในอาหารชนิดนั้น

ข้อเสียของการละลายเนื้อแช่แข็งในตู้เย็นคือต้องวางแผนล่วงหน้า เพราะใช้เวลานาน โดยเฉพาะเนื้อชิ้นใหญ่ เช่น ไก่หรือเป็ดทั้งตัว โดยปกติแล้วเนื้อทุกๆ 2.5 กิโลกรัมจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมงในการทำละลาย แม้แต่เนื้อบด ไก่หั่นชิ้น หรืออกไก่ ก็อาจต้องใช้เวลาทั้งวันในการละลายในตู้เย็น

เนื้อแช่แข็งจำพวกไก่ เป็ด หมูบด เนื้อตุ๋น และอาหารทะเล จะคงคุณภาพที่ดีและอยู่ในสภาพปลอดภัยต่อสุขภาพประมาณ 1-2 วันหลังผ่านการละลายในตู้เย็น ส่วนเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ใหญ่ที่หั่นเป็นชิ้นใหญ่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ จะอยู่ได้ประมาณ 3-5 วัน 

ในขั้นตอนการละลายที่เนื้อยังคงสภาพดี หากใช้ไม่หมดเราสามารถนำกลับช่องแช่แข็งอีกครั้งได้ โดยยังถือว่าปลอดภัยต่อสุขภาพ เพียงแต่อาจทำให้เสียคุณค่าทางสารอาหารไปบ้าง หากต้องการคงคุณค่าของเนื้อที่เหลือแนะนำให้ตัดแบ่งเฉพาะส่วนที่ต้องการใช้มาละลายเท่านั้น

2 ละลายเนื้อแช่แข็งในไมโครเวฟ 

โหมดละลายในไมโครเวฟเป็นวิธีที่เหมาะกับการละลายเนื้อชิ้นเล็กๆ อย่างรวดเร็ว และควรใช้ในกรณีที่จะนำวัตถุดิบมาทำอาหารทันทีหลังจากละลายแล้วเท่านั้น เพราะอาจมีบางบริเวณที่เริ่มสุกจากความร้อน แต่สุกไม่ทั่วถึง ซึ่งหากเก็บไว้นานจะทำให้อุณหภูมิลดไปอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้

ในกรณีที่ใช้เนื้อไม่หมดและต้องการนำกลับไปแช่แข็งอีกครั้งหลังจากละลายในไมโครเวฟ จำเป็นต้องนำมาปรุงให้สุกดีโดยทั่วก่อนนำกลับไปแช่ช่องฟรีซเสมอ

3 ละลายเนื้อแช่แข็งโดยใช้น้ำเย็น 

เป็นวิธีที่รวดเร็วแต่ไม่ค่อยแนะนำ เพราะต้องใช้ความใส่ใจพิถีพิถัน และยังควบคุมอุณหภูมิได้ยาก หากทำไม่ถูกวิธีอาจส่งผลให้อุณหภูมิลดลงจนถึงระดับที่มีแบคทีเรียเติบโตและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 

การละลายเนื้อแช่แข็งด้วยน้ำเย็นนั้นห้ามให้เนื้อสัมผัสกับน้ำโดยตรง แต่ควรบรรจุอยู่ในถุงที่กันน้ำ และคอยระวังไม่ให้ถุงรั่ว เพราะอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียในอากาศและบริเวณรอบๆ เข้าไปได้ นอกจากนั้นยังอาจส่งผลต่อคุณภาพเนื้อในกรณีที่​มีการดูดซึมน้ำเข้าไป 

ในขั้นตอนการละลายจะต้องมั่นใจว่าภาชนะที่ใช้สะอาดและใหญ่พอที่ถุงที่บรรจุเนื้อหรืออาหารจะไม่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา และเปลี่ยนน้ำเย็นทุก 30 นาทีเพื่อคงอุณหภูมิที่เหมาะสม หลังละลายเสร็จแล้วควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภาชนะและอ่างล้างจานที่ใช้ละลายเนื้อแช่แข็งด้วย

สำหรับวิธีละลายเนื้อแช่งแข็งในน้ำเย็น หากเป็นเนื้อสัตว์และอาหารทะเลในห่อบรรจุภัณฑ์เล็กๆ ประมาณครึ่งกิโลกรัม จะใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนเนื้อชิ้นใหญ่ 1-2 กิโลกรัม อาจใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง และหากเป็นไก่หรือเป็ดทั้งตัว ทุกๆ 500 กรัม จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที 

เนื้อที่ผ่านการละลายในน้ำเย็นเรียบร้อยแล้วจะต้องนำไปปรุงสุกทันที และในกรณีที่ต้องการนำกลับไปแช่แข็งอีกครั้งก็ต้องปรุงให้สุกก่อน เช่นเดียวกับวิธีการละลายด้วยไมโครเวฟ

4 ละลายไปพร้อมกับการทำอาหาร 

ในวันที่เร่งรีบหรือลืมละลายเนื้อแช่แข็งเตรียมไว้ล่วงหน้า เราสามารถนำเนื้อสัตว์มาปรุงทันทีได้ เพราะถือเป็นการละลายไปทีเดียวพร้อมกับปรุงสุก ซึ่งถือเป็นวิธีที่ปลอดภัย แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าถึงประมาณ 50% ของเวลาการทำอาหารด้วยเนื้อสดหรือเนื้อที่ละลายเรียบร้อยแล้ว และที่สำคัญต้องระวังการสุกไม่ทั่วถึงหรือสุกแค่ข้างนอกเนื่องจากอุณหภูมิที่เย็นจัด วิธีนี้จึงควรใช้กับเนื้อชิ้นเล็กๆ หรือควรหั่นเนื้อให้บางก่อนนำมาทำอาหาร

รู้วิธีละลายเนื้อแช่แข็งที่ถูกต้องอย่างนี้แล้ว การทำอาหารกินเองให้ปลอดภัยและมีคุณค่าสารอาหารครบถ้วนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ทั้งนี้นอกจากการละลายเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่อุณหภูมิห้องที่ไม่ควรทำ เรายังควรหลีกเลี่ยงการละลายอาหารในพื้นที่นอกบ้านหรือบริเวณอื่นที่ไม่ใช่เคาเตอร์ห้องครัว รวมถึงการล้างเนื้อแช่แข็ง เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้  

สุขภาพดีเริ่มต้นได้ทุกวันและต้องทำอย่างต่อเนื่อง พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก ให้ความสำคัญในการดูแลและให้คำปรึกษาทุกเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ คลิกดูรายละเอียดบริการเพิ่มเติม หรือปรึกษาทีมแพทย์พรีโมแคร์ได้ที่ LINE @primoCare