/    บทความ    /    ตรวจสุขภาพประจําปี ตรวจอะไรบ้าง? รายการตรวจชาย-หญิงที่แนะนำ

ตรวจสุขภาพประจําปี ตรวจอะไรบ้าง? รายการตรวจชาย-หญิงที่แนะนำ

ตรวจสุขภาพประจําปี ตรวจอะไรบ้าง?
รายการตรวจชาย-หญิงที่แนะนำ

เช็คลิสต์รายการตรวจสุขภาพประจำปี 2564 ตรวจอะไรบ้างดี? เจาะลึกรายการตรวจสุขภาพเบื้องต้นในเพศชายและเพศหญิงโดยคุณหมอพรีโมแคร์

การตรวจสุขภาพประจำปีมีส่วนช่วยในการระบุปัญหาสุขภาพตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม เพราะหลายโรคไม่มีสัญญาณเตือนก่อนมาเยือน ดังนั้นยิ่งตรวจเจอเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีโอกาสได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพแและทันท่วงทีมากขึ้น

หมดข้อสงสัยกับการตรวจสุขภาพประจำปี ต้องตรวจอะไรบ้าง พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก รวบรวมรายการตรวจสุขภาพประจำปีที่คุณอาจได้รับมาให้คุณลองเช็คลิสต์เพื่อเตรียมความพร้อมในบทความนี้ 

ทำไมต้องตรวจสุขภาพประจำปี?

  • ตรวจเช็กโรคที่เป็นอยู่และโรคที่ยังไม่แสดงอาการ
  • ประเมินความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ
  • รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคประจำปี
  • ประเมินพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อรับแนวทางปรับเปลี่ยนให้มีสุขภาพดียิ่งขึ้น
  • สร้างแรงผลักดันในการดูแลสุขภาพ

ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจอะไรบ้าง? 

ซักประวัติสุขภาพ

ขั้นตอนเริ่มแรกของการตรวจสุขภาพคือการพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพ เช่น มีโรคประจำตัว เคยมีอาการเจ็บป่วย หรือได้รับการผ่าตัดมาก่อนหรือไม่ รวมไปถึงประวัติการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว พฤติกรรมการใช้ชีวิต น้ำหนัก รอบเอว ส่วนสูง พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การออกกำลังกาย และการรับประทานอาหาร

หากประเมินว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น คนในครอบครัวมีโรคบางชนิดที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม แพทย์มักแนะนำให้รับการตรวจสุขภาพสำหรับโรคนั้นบ่อยขึ้นและเริ่มตรวจในวัยที่เร็วกว่าเกณฑ์การตรวจทั่วไป โดยในช่วงที่พูดคุยกับแพทย์นี้ เรายังสามารถสอบถามหากมีความกังวลเรื่องสุขภาพด้านใดเป็นพิเศษ เพื่อรับคำแนะนำในการดูแลป้องกันปัจจัยที่เสี่ยงต่อโรคต่างๆ

ตรวจวัดสัญญาณชีพ

  • ตรวจความดันโลหิต ค่าความดันปกติควรอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 120/80 หากเกินกว่า 130/80 จะเข้าข่ายภาวะความดันสูง
  • ควรตรวจทุก 2 ปี หากมีอายุต่ำกว่า 40 ปี และไม่มีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง 
  • ควรตรวจทุกปี หากอายุมากกว่า 40 ปี หรือเคยมีความดันโลหิตสูง หรือมีคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจวาย 
  • ตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ โดยปกติจะอยู่ที่ 60-100 ครั้งต่อนาที แต่ก็เป็นไปได้ที่บางคนจะมีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้งต่อนาที โดยที่ไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ
  • ตรวจอัตราการหายใจ คนทั่วไปจะหายใจประมาณ 12-16 ครั้งต่อนาที อัตราการหายใจที่มากกว่า 20 ครั้งต่อนาทีอาจบ่งบอกถึงโรคหัวใจหรือโรคปอดได้
  • ตรวจอุณหภูมิร่างกาย อุณหภูมิปกติของคนเราอยู่ที่ประมาณ 37°c อาจต่ำหรือสูงกว่านี้ได้เล็กน้อย

ตรวจร่างกายภายนอก 

เป็นการสังเกตร่างกายส่วนต่างๆ ภายนอก ว่ามีสัญญาณของปัญหาสุขภาพใดๆ หรือไม่ ได้แก่ ศีรษะ ดวงตา หน้าอก ท้อง ผิวหนัง รวมทั้งประเมินการทำงานของระบบกล้ามเนื้อและกระดูกจากการสังเกตมือ ข้อมือ ตลอดจนการทำงานของระบบประสาท เช่น การพูด การเดิน

ตรวจเลือด

เป็นการเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูความผิดปกติของการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและตรวจสารเคมีในเม็ดเลือด เพื่อดูความผิดปกติของตับ ไต และระบบภูมิคุ้มกัน 
  • ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • ตรวจน้ำตาลในเลือดหาเบาหวาน
  • ตรวจไขมันในเลือด ซึ่งอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ภาวะหัวใจวาย และโรคหลอดเลือดในสมอง

ตรวจตามปัจจัยเสี่ยง

  • ตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยใช้วิธีตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ มักเริ่มตรวจเมื่ออายุ 50 ปี หรือเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 40 ปีในผู้ที่มีความเสี่ยงและมีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ นอกจากนี้หากมีความเสี่ยงสูงอาจแนะนำให้ตรวจด้วยการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ทุก 5 ปี
  • ตรวจมะเร็งปอด แนะนำให้ตรวจในผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มาเป็นเวลานาน โดยมักเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป
  • ตรวจเบาหวาน แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร หรือตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น คนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน น้ำหนักเกินมาตรฐาน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น
  • ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คำแนะนำในการตรวจขึ้นอยู่กับประวัติสุขภาพทางเพศและพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์ เช่น ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) ในผู้ที่มักมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และตรวจโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์หรือผู้มีความเสี่ยง
  • ตรวจประเมินภาวะซึมเศร้า ประเมินสุขภาพจิตว่ามีภาวะซึมเศร้าที่หลายคนอาจเป็นโดยไม่รู้ตัวหรือไม่
  • ตรวจสุขภาพตา คัดกรองโรคตาที่มีความเสี่ยงเพิ่มตามอายุที่มากขึ้น เช่น ต้อหิน ต้อกระจก เบาหวานขึ้นตา จอประสาทตาเสื่อม 
    • ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปควรรับการตรวจตาทุกปี 
    • ผู้ที่มีสายตาปกติควรตรวจสายตาทุก 2 ปี ส่วนผู้ที่ใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์ควรตรวจสายตาทุกปี เพื่อปรับเลนส์ให้เหมาะสมกับระดับความสั้นยาวของสายตา 

ตรวจสุขภาพเพศหญิง

  • ตรวจมะเร็งเต้านม โดยการตรวจแมมโมแกรม ควรตรวจทุก 2 ปี ในช่วงอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงและมีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งเต้านมอาจเริ่มตรวจเร็วขึ้นและตรวจบ่อยขึ้น
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ทำได้โดยการตรวจแปปสเมียร์ หรือ HPV DNA โดยหากเคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อนควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป หากไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป 
    • การตรวจแปบสเมียร์ เป็นการป้ายเซลล์จากมดลูกเพื่อส่งไปตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ ควรตรวจทุกๆ 2 ปี สามารถหยุดตรวจได้เมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป หากไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 5 ครั้ง 
    • การตรวจ HPV DNA เป็นการตรวจเจาะลึกระดับดีเอ็นเอที่สามารถค้นหาเชื้อเอชพีวี (HPV) ได้ในระยะก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจทุก 5 ปี สามารถหยุดตรวจได้เมื่ออายุ 65 ปี หากไม่พบความผิดปกติติดต่อกัน 2 ครั้ง  
  • ตรวจภายใน แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี และตรวจเป็นประจำทุกปี เพื่อหาสัญญาณของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และความผิดปกติอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและช่องคลอด
  • ตรวจคอเลสเตอรอล ผู้หญิงควรเริ่มตรวจคอเลสเตอรอลเป็นประจำตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี
  • ตรวจภาวะกระดูกพรุน โดยการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือเร็วกว่านั้น หากมีโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อมวลกระดูก

ตรวจสุขภาพเพศชาย

  • ตรวจคอเลสเตอรอล ผู้ชายควรเริ่มตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 35 ปี แต่หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ แพทย์อาจแนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่ช่วงอายุ 20 ปี
  • ตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือเริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปี หากมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว
  • ตรวจอัณฑะ เป็นการตรวจโดยคลำหาก้อนเนื้อและความเปลี่ยนแปลงของขนาดลูกอัณฑะ ควรตรวจเป็นประจำทุกปี และสามารถตรวจเบื้องต้นด้วยตนเองทุกๆ เดือนได้
  • ตรวจการโป่งพองของหลอดเลือดแดง เป็นการตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ที่แนะนำในชายอายุ 65-75 ปี ที่มีประวัติการสูบบุหรี่

อัปเดตวัคซีนประจำปี

นอกเหนือจากการตรวจสุขภาพ แพทย์อาจสอบถามประวัติการรับวัคซีนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมประจำปีด้วย เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ควรฉีดทุกปี วัคซีนบาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน ที่ควรฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี รวมถึงวัคซีนที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ เช่น วัคซีนโรคปอดบวม งูสวัด เป็นต้น

ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้การตรวจสุขภาพประจำปีก็คือการไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่องสุขภาพหรือปัญหาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ โดยอาจเลือกหาหมอที่คลินิกใกล้บ้านเพื่อให้เดินทางได้สะดวก และมีเวลาพูดคุยกันมากขึ้น 

ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ส่งผลให้แพทย์มองเห็นภาพรวมการดูแลสุขภาพและรู้รายละเอียดในการป้องกันโรคต่างๆ มากขึ้นด้วยข้อมูลที่ได้รับจากคนไข้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายการตรวจสุขภาพประจำปีที่จำเป็นและเหมาะสมกับอายุ ไลฟ์สไตล์ และภาวะสุขภาพของเราที่สุด

พรีโมแคร์ เมดิคอล คลินิก บริการสุขภาพใกล้บ้านที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ตามแนวคิด ‘รู้จัก ก่อนรักษา’ เลือกคุณหมอพรีโมแคร์ เป็นหมอประจำตัวที่ช่วยประเมินความเสี่ยงและแนะนำรายการตรวจสุขภาพที่เหมาะกับคุณในทุกปี ได้เลยที่ LINE @primoCare

Reference