/    บทความ    /    รู้จัก คอเลสเตอรอล: LDL, HDL, ไตรกลีเซอไรด์ ต่างกันอย่างไร?

คอเลสเตอรอล ไม่ได้มีแต่โทษ: LDL, HDL, ไตรกลีเซอไรด์ ต่างกันอย่างไร?

คอเลสเตอรอล ไม่ได้มีแต่โทษ
LDL, HDL, ไตรกลีเซอไรด์ ต่างกันอย่างไร?

“คอเลสเตอรอล” ที่เราเคยรู้จักหรือเคยได้ยินอาจมีหลายชื่อหลายชนิด สร้างความสับสนให้ใครหลายคน บทความนี้คุณหมอพรีโมแคร์ชวนมาทำความรู้จักคอเลสเตอรอลว่าคืออะไรกันแน่ พร้อมตอบทุกคำถามที่ค้างคาใจ

  • คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และชนิดไม่ดี (LDL) คืออะไร เกิดจากอะไร?
  • ไตรกลีเซอไรด์ กับ คอเลสเตอรอล ต่างกันอย่างไร?
  • ทำไมระดับไขมันในเลือดที่สูงถึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ 
  • วิธีอ่านค่าคอเลสเตอรอลในเลือดที่ถูกต้อง และวิธีลดไขมันในเลือดง่ายๆ ที่ใครก็ทำได้

คอเลสเตอรอล คืออะไร?

คอเลสเตอรอลเป็นสารประเภทไขมันชนิดหนึ่งที่มีลักษณะกึ่งของแข็งกึ่งของเหลวคล้ายขี้ผึ้ง ที่จริงแล้วคอเลสเตอรอลเป็นสารที่จำเป็นต่อร่างกายในการสร้างเซลล์ รวมถึงการผลิตวิตามิน ฮอร์โมน และสารต่างๆ ออกมาใช้ แต่เมื่อมีมากเกินไป คอเลสเตอรอลก็อาจกลายมาเป็นตัวการที่ทำร้ายสุขภาพของเราได้

คอเลสเตอรอลเกิดจากอะไร?

โดยปกติร่างกายสามารถสร้างคอเลสเตอรอลที่ต้องการใช้ได้เองจากตับ ส่วนคอเลสเตอรอลที่เหลือนั้นมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวัน โดยจะพบได้ในอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เท่านั้น เช่น นม ไข่ และเครื่องในสัตว์ อาหารเหล่านี้ยังมีไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้ตับยิ่งผลิตคอเลสเตอรอลออกมามากเกินความจำเป็น จนทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงตามมา

คอเลสเตอรอลส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร?

ระดับไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูงเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือเป็นโรคเรื้อรังอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายในแต่ละปี เนื่องจากคอเลสเตอรอลจะไปจับตัวกับสารอื่นๆ จนมีขนาดใหญ่และเกาะตามหลอดเลือดแดงที่นำเลือดออกจากหัวใจไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายและสมอง ทำให้หลอดเลือดตีบแคบและแข็งตัวขึ้น เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัวที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองในที่สุด

คอเลสเตอรอล ไม่ได้มีแต่โทษเสมอไป

คอเลสเตอรอลแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL Cholesterol) และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL Cholesterol) โดยทั้งคู่ต่างเกิดจากการรวมตัวกันของคอเลสเตอรอลกับโปรตีน กลายเป็นสารที่ชื่อว่า “ไลโพโปรตีน” เพื่อให้ไขมันหรือคอเลสเตอรอลสามารถเคลื่อนตัวไปในหลอดเลือดได้

  • HDL (High-density Lipoprotein) คือคอเลสเตอรอลชนิดดีที่มีประโยชน์ เพราะจะช่วยพาคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์จากส่วนต่างๆ ในร่างกายกลับไปที่ตับเพื่อขจัดออกจากร่างกาย ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมลดลง นอกจากนี้ยังมีส่วนในการยับยั้งการเกิดออกซิเดชัน และการแข็งตัวของเลือด ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
  • LDL (Low-density Lipoprotein) คือคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี เป็นคอเลสเตอรอลที่ก่อให้เกิดการการสะสมของไขมันตามผนังหลอดเลือดจนเกิดการอุดตัน เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา

ทั้งนี้ HDL ไม่สามารถช่วยกำจัด LDL ได้ทั้งหมด แต่จะช่วยกำจัดได้เพียง 1/3 หรือ 1/4 ส่วน เท่านั้น

ไตรกลีเซอไรด์ กับ คอเลสเตอรอล ต่างกันอย่างไร?

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันอีกรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในเลือด เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายได้รับน้ำตาลและแคลอรี่จากการรับประทานอาหารมากเกินกว่าที่ต้องใช้ จึงถูกเปลี่ยนสภาพให้เป็นไตรกลีเซอไรด์ที่อยู่ตามเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไตรกลีเซอไรด์มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกาย แต่การมีระดับไขมันชนิดนี้สูงเกินไปก็เป็นปัจจัยให้เกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นเดียวกัน การรับประทานอาหารในปริมาณแต่พอดีจะช่วยควบคุมระดับไตรกลีเซอไรด์ไม่ให้สูงเกินไปได้

ค่า HDL, LDL, ไตรกลีเซอไรด์ ไม่ควรเกินเท่าไร?

การตรวจระดับคอเลสเตอรอล หรือค่า HDL, LDL และไตรกลีเซอไรด์ทำได้โดยการตรวจเลือด โดยจะมีหน่วยเป็นมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) 

  • ผู้ชายควรเริ่มตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 35 ปี แต่หากมีคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี
  • ผู้หญิงควรเริ่มตรวจเป็นประจำตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป แต่หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหัวใจ แนะนำให้เริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปี

ระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ที่ถือว่าปกติและดีต่อสุขภาพ แบ่งได้ดังนี้

ประเภทคอเลสเตอรอล

ระดับคอเลสเตอรอลที่เหมาะสม

คอเลสเตอรอลทั้งหมด (Total Cholesterol)

น้อยกว่า 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

LDL

– ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง ควรควบคุม LDL ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

– ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดปานกลาง ควรควบคุม LDL ให้น้อยกว่า 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

– ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำ ควรควบคุม LDL ให้น้อยกว่า 160 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

HDL

ผู้ชายมากกว่า 45 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ผู้หญิงมากกว่า 50 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

น้อยกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

วิธีลดและควบคุมระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือด

ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะในผู้หญิงที่ปกติในช่วงก่อนวัยหมดประจำเดือนจะมีคอเลสเตอรอลน้อยกว่าผู้ชายในวัยเดียวกัน แต่เมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อภาวะคอเลสเตอรอลสูงยังสามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อระดับคอเลสเตอรอลและเป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ โดยมีวิธีเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการปรับพฤติกรรมดังต่อไปนี้

  • จำกัดปริมาณอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น 
    • เนื้อสัตว์ติดมันและเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ รวมถึงหนังสัตว์ น้ำมันหมู เครื่องในต่างๆ 
    • ไขมันจากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม กะทิ เป็นต้น 
    • เนย ชีส ไอศกรีม คุกกี้ 
    • อาหารฟาสต์ฟู้ดและเนื้อแปรรูป เช่น เบคอน ไส้กรอก แฮม
  • เพิ่มการรับประทานอาหารที่อุดมด้วยไขมันดีซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ลดไขมันในเลือด เน้นผักผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนจากแหล่งที่หลากหลาย โดยเฉพาะปลาและถั่วต่างๆ 
  • ใช้น้ำมันจากพืชที่เป็นไขมันไม่อิ่มตัวในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์พิเศษ น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันงา เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ DASH Diet และอาหารเมดิเตอร์เรเนียน รูปแบบการกินแบบสุขภาพดี ลดไขมันในเลือด)
  • ควบคุมหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) คอเลสเตอรอลโดยรวม และระดับไตรกลีเซอไรด์ได้
  • เพิ่มการออกกำลังกาย วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 วัน การออกกำลังกายเป็นประจำไม่เพียงแต่ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก แต่ยังลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี และมีส่วนช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีได้ด้วย
  • เลิกสูบบุหรี่ สาเหตุที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) ที่มีหน้าที่กำจัดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ลดลง
  • หมั่นตรวจเช็คระดับคอเลสเตอรอลเป็นประจำทุกๆ 5 ปี

สำหรับผู้ที่ตรวจพบว่ามีไขมันในเลือดสูง เบื้องต้นมักแนะนำให้เริ่มจากการควบคุมตามปัจจัยต่างๆ ข้างต้น แต่ในบางคนที่การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์สุขภาพอาจไม่เพียงพอให้ลดระดับคอเลสเตอรอลลงได้ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดคอเลสเตอรอลให้รับประทานเพื่อผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น และเพื่อการควบคุมที่เห็นผลและความต่อเนื่องของการดูแลรักษา อย่าลืมเข้ารับการตรวจระดับคอเลสเตอรอลเป็นระยะและติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

ให้คุณหมอพรีโมแคร์เป็นหมอประจำตัวช่วยดูแลทุกเรื่องสุขภาพอย่างต่อเนื่อง คลิกเพื่อสอบถามข้อมูล หรือดูรายละเอียดบริการของเราเพิ่มเติมได้เลยที่นี่